จับเทคนิคสอนอ่านออก เขียนได้ ด้วยวิธีการแจกลูกสะกดคำ

 
  • สพฐ. ได้มีการจัดวางแผนการบริหารจัดการเรียนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 สำหรับปีการศึกษา 2565 ที่ต้องการเน้นทักษะการอ่านออก เขียนได้ ในกลุ่มเด็กประถมศึกษามากขึ้น
  • สิ่งที่ต้องคิดและลงมือทำมากที่สุดคือจะสอนอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ เพื่อให้เด็กสามารถอ่านออกเขียนได้ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อต่อยอดและบูรณาการกับวิชาอื่นให้ได้ทักษะและสมรรถนะที่นำไปใช้ในอนาคตของพวกเขาได้
  • บทความนี้นำการสอนด้วยวิธีแจกลูกสะกดคำพร้อมเทคนิคที่เริ่มสอนพื้นฐานสำหรับเด็กที่ยังไม่เคยอ่านเขียนจริงจัง ไปสู่การจัดการเรียนการสอนที่รวมกิจกรรมใช้กระตุ้นการเรียนของเด็ก ๆ เข้าใจง่าย จดจำไว ครูสามารถนำไปปรับใช้สอนได้ทั้ง online on site และ on hand ได้ทันที
 

เมื่อการสอนต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และต้องสอนให้สอดคล้องกับนโยบายของสพฐ.ที่ยังคงจัดการเรียนการสอนทั้ง online on site และ on hand ตามความเหมาะสม ซึ่งปีนี้ สพฐ.ให้นโยบายในการจัดการเรียนที่เน้นทักษะการอ่านออกเขียนได้ในกลุ่มเด็กประถมศึกษามากขึ้น...

บทความนี้จะนำการสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ด้วยวิธีแจกลูกสะกดคำควบคู่ไปกับเทคนิคเจ๋ง ๆ เพื่อให้ครูภาษาไทยปรับ นำไปปรับใช้สอนได้เหมาะสม เป็นขั้นตอน รับรองว่าเด็ก ๆ จำง่าย เข้าใจเร็วแน่นอนจะมีวิธีไหนบ้างนั้นมาดูกันเลย

 

#เริ่มต้นที่ทักษะการอ่าน กับบันได 5 ขั้น สู่เป้าหมายให้เด็กมีทักษะและอ่านออก

  1. เด็กต้องอ่านคำและรู้ความหมายของคำได้
  2. อ่านจับใจความได้ เพราะหลังจากที่เด็กสามารถอ่านคำ วลี และประโยคได้แล้ว พวกเขาจะต้องอ่านเป็นคือเข้าใจในสิ่งที่อ่านและบอกได้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เล่าเรื่องสรุปเรื่องได้
  3. อ่านออกเสียงให้ชัดเจนและถูกต้อง โดยเฉพาะคำที่ออกเสียง ร ล ว คำควบกล้ำและคำที่มีอักษรนำ เด็ก ๆ ต้องรู้จังหวะในการอ่านให้ถูกวรรคตอน ฝึกฝนจนอ่านคล่อง
  4. อ่านเพื่อต่อยอด และรู้จักอ่านเพื่อหาความรู้ ค้นคว้าความรู้จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ (ทักษะนี้เหมาะกับเด็กประถมฯ ปลายขึ้นไป)
  5. ฝึกอ่านจนติดเป็นนิสัย เพื่อให้เด็กเป็นผู้รักการอ่าน สิ่งหนึ่งที่ครูจะต้องเสริมคือการจัดบรรยากาศในห้องเรียนหรือสร้างกิจกรรมออนไลน์ คอยหาหนังสือน่าสนใจมาเล่าให้เด็กฟังเพื่อกระตุ้นให้เด็กอยากอ่าน
 

#เทคนิคการสอนให้ได้ทักษะการอ่าน

เมื่อเป้าหมายชัดเจนแล้วก็มาดูเทคนิคที่เราจะใช้สอนเด็ก ๆ กันบ้าง เริ่มต้นจากการให้เด็กอ่านเป็นก่อน โดยเริ่มฝึกพื้นฐานการอ่านตั้งแต่อ่านพยัญชนะไทย สระ วรรณยุกต์ไปสู่การอ่านคำและประโยคได้ ซึ่งเราจะใช้วิธีการสอนควบคู่กับการใช้เทคนิคต่าง ๆ ดังนี้...

1.สอนด้วยการประสมอักษร

เป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ เน้นการฟังเสียง ซึ่งวิธีนี้เป็นการสอนที่ใช้มานาน โดยการนำพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์มาประสมกัน แล้วฝึกอ่านแบบแจกลูกสะกดคำ


การประสมคำโดยยึดพยัญชนะต้นเป็นหลัก ยึดสระเป็นหลัก และยึดตัวสะกดเป็นหลัก
 

2.สอนด้วยภาพ

สอนจากการให้เด็กเดาคำจากภาพหรือสอนอ่านจากภาพ โดยให้เด็กเริ่มจำรูปภาพก่อนแล้วค่อย ๆ ให้อ่านตัวอักษร

 

3.สอนอ่านจากรูปร่างของคำ

เมื่อเด็กเห็นรูปร่างภาพรวมของคำแล้ว พวกเขาจะนำไปเปรียบเทียบกับคำที่เคยอ่านออก ถ้าคำไหนมีรูปร่างคล้ายกับคำที่เคยอ่านผ่านตามา เด็กก็สามารถเดาได้ว่าอ่านอย่างไร ซึ่งการสอนด้วยเทคนิคนี้ครูจำเป็นต้องหาคำที่มีรูปร่างคล้ายกันชัดเจน เน้นให้เด็กฝึกสังเกตรูปร่างเพื่อการจดจำคำที่เร็วขึ้น

 

4.สอนด้วยเทคนิคการเดาคำจากบริบทหรือคำแวดล้อม

ครูอาจจะหากิจกรรมที่ให้เด็กเดาคำจากสิ่งรอบตัว เช่น กิจกรรมปริศนาคำทาย คือให้ครูสร้างคำปริศนาขึ้นมา 1 คำแล้วให้เด็กทายคำ

ตัวอย่างปริศนาคำทายที่ใช้สระอะ

  • ฉันเป็นผักสวนครัว เนื้อตัวเป็นตะปุ่มตะปำ แต่มีคุณค่าเลิศล้ำ คั้นเอาน้ำแม้ขมหน่อยอร่อยดี (มะระ)
  • ฉันเป็นของใช้ มีไว้ในครัว เอาไว้ผัดคั่ว ทั่ทุกบ้านต้องมี (กระทะ)
 

5.สอนด้วยเทคนิคหลักภาษาไทย

วิธีนี้เด็กจะเรียนรู้การอ่านจากหลักเกณฑ์ของภาษาเพื่อการอ่านเขียนตามหลักสูตรเป๊ะ! เช่น อักษร 3 หมู่ สระเสียงเดี่ยว สระเสียงประสม มาตราตัวสะกด การผันวรรณยุกต์ ฯลฯ จึงจำเป็นต้องสอดแทรกกิจกรรมที่สนุก เช่นร้องเพลง เล่น เกม เล่า นิทานก่อนเริ่มบทเรียน อย่าลืมว่าถ้ามีกิจกรรมที่ให้เด็กลงมือทำได้จริงก็จะช่วยให้พวกเขาพร้อมจะเรียนรู้และจดจำได้เร็วขึ้น

 

6.สอนอ่านตามครู

ครูส่วนใหญ่จะนิยมวิธีนี้เช่นกัน เพราะเป็นการสอนที่ง่าย แต่ควรใช้วิธีนี้ก็ต่อเมื่อคำที่สอนนั้นเป็นคำที่ยาก สะกดแปลก หรือครูที่สอนด้วยเทคนิคต่าง ๆ แล้วเด็ก ๆ ก็ยังไม่เข้าใจก็สามารถใช้วิธีได้เช่นกัน

 

#ต่อยอดการอ่านด้วยเทคนิคการอ่านจับใจความ

เมื่อเด็กอ่านออกแล้วก็ควรให้เขาอ่านเป็นด้วย หมายถึงอ่านแล้วเด็กต้องรู้จักและเข้าใจความหมายไม่ว่าจะเป็นคำ วลี ประโยค ข้อความ ซึ่งการสอนอ่านจับใจความนั้นเป็นการฝึกอ่านในใจ และต้องฝึกการกวาดสายตา ต้องมีสมาธิในขณะที่อ่าน ฝึกอ่านทีละย่อหน้าและจับใจความ ครูต้องฝึกให้เด็กอ่านทุกย่อหน้าและต้องตั้งเป้าหมายว่าการอ่านจับใจความในครั้งนี้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เช่น อยากให้เด็กอ่านจับประเด็นได้หรืออ่านเพื่อตอบคำถามเป็น หรืออ่านเพื่อวิเคราะห์ได้ เป็นต้น

 

#เทคนิคการสอนให้ได้ทักษะการเขียน

สำหรับเด็กที่ไม่เคยมีพื้นฐานการเขียนมาก่อนครูอาจเริ่มต้นด้วย 3 วิธีนี้ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนการเขียน

 

1.จับดินสอถูกต้อง

เหตุผลหลักที่การจับดินสอให้ถูกวิธีมีความสำคัญก็เพราะถ้าจับถูกวิธีก็ลดอาการปวดมือ แถมยังได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และยังเป็นการทำงานประสานกันระหว่างตา สมอง และมือ ซึ่งเป็นการส่งเสริมทักษะของร่างกายให้ทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


ภาพการจับดินสอที่ถูกวิธี
 

สำหรับวิธีจับดินสอที่ถูกต้อง คือ ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้จับตัวดินสอ แล้วใช้นิ้วกลางเป็นฐานรอง จับแท่งดินสอโดยใช้น้ำหนักของนิ้วทั้ง 3 เท่ากัน ซึ่งสำหรับเด็กที่เพิ่งหัดจับดินสอครั้งแรกพวกเขาจะยังใช้น้ำหนักมือในการเขียนไม่ถูก เขียนเบาไปทำให้เส้นบาง มองไม่เห็น ถ้าลงน้ำหนักมือมากไปอาจทำให้ดินสอหักหรือกระดาษฉีกขาด ทำให้พวกเขารู้สึกไม่ดีกับการเขียนและไม่อยากเขียนได้ ดังนั้นควรจับมือเขาเขียนก่อนเพื่อให้รู้น้ำหนักการเขียนที่พอดี แล้วค่อย ๆ ปล่อยให้ได้ลองเขียนเอง

 

2.นั่งถูกวิธี

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กได้ดี ต้องเริ่มให้เด็กนั่งให้ถูกวิธี เพราะถ้านั่งไม่ถูกต้องอาจทำให้เด็ก ๆ ปวดคอ ปวดหลังได้ สำหรับท่านั่งเขียนหนังสือที่ถูกต้อง คือ...

  • 2.1 นั่งตัวตรง หันหน้าเข้าหาโต๊ะเรียนไม่ควรนั่งเอียง
  • 2.2 แขนทั้ง 2 ข้างวางอยู่บนโต๊ะ
  • 2.3 วางกระดาษให้ตรง มือที่ใช้เขียนต้องทำมุมให้เหมาะสมกับตัวอักษร ข้อศอกไม่กางออกหรือแนวลำตัวมากเกินไป
  • 2.4 ใช้ฝ่ามือคว่ำลง มืองอทำมุม 45 องศากับข้อมือและจับดินสอให้พอเหมาะ
  • 2.5 ขณะที่คัดลายมือ แขน มือ และนิ้วต้องเคลื่อนไหวให้สัมพันธ์กัน
 

3.การขีดเขียนเส้นพื้นฐาน

เมื่อเตรียมพร้อมด้านร่างกายแล้วก็เริ่มลากเส้นพื้นฐานกันก่อน ซึ่งมีทั้งหมด 13 เส้น ครูสามารถหากิจกรรมแบบฝึกหัดเพื่อให้เด็กได้ลองจับดินสอ และวางน้ำหนักมือจริงให้เด็กมีทักษะการเขียนเส้นพื้นฐานไปสู่การเขียนพยัญชนะไทย


เรียนรู้พื้นฐาน 13 เส้นสู่การคัดเขียนพยัญชนะไทยผ่านกิจกรรม
ขอบคุณภาพกิจกรรมจากแบบฝึกทักษะ ชุด ฝึกเขียน เรียนอ่าน คัดไทย
 

โดยต้องเน้นให้เด็กเขียนที่ต้นตัวพยัญชนะแล้วลากเส้นติดต่อกันไปจนจบที่ปลายพยัญชนะ ในการเขียนหัวพยัญชนะไทยต้องให้กลม มีเส้นเรียบสม่ำเสมอกัน นอกจากนั้นพยัญชนะไทยทั้ง 44 ตัว มีระดับความยากง่ายในการอ่านออกเสียงและการเขียนรูปพยัญชนะที่แตกต่างกัน ครูควรเลือกพยัญชนะที่ง่ายต่อการออกเสียงและเขียนรูปให้เด็กฝึกอ่าน ฝึกเขียนตามลำดับ


ลำดับพยัญชนะไทยสอนก่อน-หลัง
 

#เทคนิคการสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ กับกิจกรรมอ่านท่องร้องเล่น

กิจกรรมนี้จะช่วยฝึกทบทวนการอ่านรูปและเสียงพยัญชนะไทยทั้ง 44 ตัว ว่าพวกเขาสามารถจดจำในการฝึกอ่านเขียนเบื้องต้นได้หรือไม่ โดยเริ่มจาก...

 

1.ขั้นนำ

ครูหาอุปกรณ์หรือสื่อ เช่น โปสเตอร์พยัญชนะไทย เพลงประกอบการสอนพยัญชนะไทย นิทาน มากระตุ้นการเรียนของเด็กด้วยการร้องและท่องพยัญชนะไทยไปพร้อมกัน


เพลงพยัญชนะไทย
 

2.ขั้นสอน

ครูใช้โปสเตอร์ให้เด็กสังเกตรูปและสอนออกเสียงไปพร้อมกัน แล้วค่อย ๆ ให้อ่านเป็นรายบุคคล ครูต้องคอยหมั่นสังเกตความถูกต้องในการอ่านออกเสียงพยัญชนะของเด็ก ๆ ทุกครั้ง แล้วฝึกฝนและทบทวนอีกครั้งด้วยกิจกรรมในแบบฝึกหัด

ขอบคุณแบบฝึกหัดภาษาไทย ป.1
 

3.ขั้นสรุป

ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปชื่อพยัญชนะทั้ง 44 ตัว โดยการอ่านออกเสียงให้ถูกต้อง ดังนี้

 

4.ขั้นประเมิน

สำหรับการวัดและประเมินผลว่าเด็กอ่านออกเขียนได้หรือไม่นั้น สามารถประเมินได้จากแบบฝึกหัดที่เด็กทำหรือใช้แบบวัดฯ เพื่อประเมินตามจุดประสงค์ประจำหน่วยนำมาวัดผลและพัฒนาเด็ก ๆ ต่อไป โดยกำหนดเป็น 3 รูปแบบคือ

  1. แบบวัดตามจุดประสงค์ของหน่วยนั้น
  2. วิธีการวัด
  3. เกณฑ์การประเมิน

เริ่มต้นการสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้อย่างเป็นขั้นตอนผสานควบคู่ไปกับเทคนิคที่เพิ่มดีกรีให้เด็กเรียนรู้ได้สนุกมากขึ้นก็ทำให้การสอนที่อาจจะดูทางการเป็นการสอนที่สนุก มีประสิทธิภาพและได้ใจเด็ก ๆ อีกด้วย

 
ขอบคุณข้อมูลจาก
คู่มือการสอนอ่านเขียน โดยการแจกลูกสะกดคำ
สถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
 
 
แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง