ชมเด็กอย่างไรให้ได้ดี

ชมเด็กอย่างไรให้ได้ดี

 

  •  คำชมเชยจะไม่มีผลอะไรเลย หากครูกล่าวชมเด็กแบบหว่านคำชม ไม่เฉพาะเจาะจงลงไป

  • มีความเห็นที่แตกต่างกันในหมู่นักจิตวิทยาว่า การชมเด็กนั้นควรชมให้มากหรือชมให้น้อย

  • แม้จะมีความเห็นแตกต่างกันระหว่างนักจิตวิทยา แต่จุดที่เห็นร่วมกันคือ การชมเด็กควรมีจุดมุ่งหมายให้เด็กพัฒนาตัวเองต่อไป

 

 

มีนักวิจัยและนักจิตวิทยาจำนวนหนึ่งเชื่อว่า การชมเชยเด็กอย่างฟุ่มเฟือยไปเสียทุกเรื่องด้วยคำพูดที่ว่า "หนูเก่งมาก" "งานของหนูยอดเยี่ยม" ไม่ได้ช่วยสร้างความมั่นใจในตนเองให้เกิดขึ้นแก่เด็กอย่างที่คิด ตรงกันข้าม การชมเชยแบบนี้ไม่มีความหมายอะไรเลยในแง่ของการส่งเสริมเด็กให้พัฒนาตนเอง ในการชมนักเรียนให้เกิดผลดีตามมา ครูจำเป็นต้องเพิ่มเติมคำวิจารณ์หรือข้อแนะนำเพื่อให้เด็กปรับปรุงและพัฒนาผลงานของตนเองด้วย

 

คนส่วนใหญ่เชื่อว่า การชมเด็กบ่อยๆ จะทำให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง และเด็กที่มีความมั่นใจในตนเองสูงมักเป็นเด็กที่มีความสุข และประสบความสำเร็จในการเรียนและในชีวิต มากกว่าเด็กที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง แต่อย่างไรก็ดี ผลของการวิจัยของนักจิตวิทยาไม่ได้สนับสนุนความเชื่อดังกล่าวนี้

 

 

"ความเชื่อมั่นในตนเองไม่ได้ช่วยให้เด็กมีความสุขมากขึ้น เรียนดีขึ้น หรือมีความสามารถเพิ่มขึ้นเลย"
มาร์แชล ดุ๊ค นักจิตวิทยาคลีนิคและนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแอตแลนต้า กล่าว "แต่สิ่งนี้อาจจะช่วยเด็กให้จัดการกับสถานการณ์ความเครียด และช่วยสร้างเสริมความเข้มแข็งทางอารมณ์ได้บ้าง" ในทัศนะของดุ๊ค การที่ครูชมเชยความตั้งใจตลอดจนความพยายามของเด็ก และส่งเสริมเด็กให้พัฒนา คุณสมบัติเหล่านี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้เกิดขึ้นแก่เด็กมากกว่าคำชมเชย

 

นอกจากนั้นแล้ว คำชมเชย จะไม่มีผลอะไรเลยหากครูหว่านคำชมกับเด็กทุกคนเหมือนๆ กัน ตัวอย่างเช่น ถ้าครูชมนักเรียนทุกคนในชั้นว่า รูปภาพที่พวกเขาวาดนั้นสวย แต่ในความเป็นจริงเด็กๆ รู้ว่าตนเองวาดสวยกว่าเพื่อนหรือเพื่อนวาดสวยกว่าตนเอง คำชมในสถานการณ์นี้จะไม่มีความหมายอะไรทั้งสิ้นดุ๊คยังกล่าวอีกว่า โดยมากผู้ใหญ่มักจะไม่ค่อยพูดตรงๆ เวลาที่เด็กทำผิดพลาดหรือมีข้อบกพร่อง

 

วิธีเช่นนี้จะไม่ช่วยให้เด็กสามารถเผชิญหน้ากับปัญหาหรือความยากลำบากได้ เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในโลกแห่งความเป็นจริง เทคนิควิธีในการชมนักเรียน นักจิตวิทยา นักวิจัย ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กได้ให้ข้อแนะนำในการชมเชยเด็กสำหรับครูไว้ ดังนี้

 

 

วิจารณ์ตัวเนื้องานของนักเรียน พร้อมกับชี้แนะจุดที่เด็กจะสามารถปรับปรุงงานให้ดีขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น ในการวิจารณ์งานวาดรูปหรือระบายสีรูปของเด็ก ครูควรจะพูดว่า "ทำไมหนูถึงใส่ตู้รถไฟไว้ตรงนี้ล่ะจ๊ะ" หรือ "หนูวาดรูปใบหน้าสวยขึ้นนะ" เบนจามิน มาร์เดล นักวิจัยในโครงการ Project Zero ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแนะนำ "ถ้านักเรียนวาดรูปไม่เก่ง แม้ว่าใช้ความพยายามอย่างมากแล้วก็ตาม ให้ครูชมเรื่องความพยายาม" มาร์แชล ดุ๊ค นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยแอตแลนต้าแนะนำ

 

พยายามหาจุดชมที่เฉพาะเจาะจง และชี้ให้เห็นความตั้งใจพยายามที่เกิดขึ้นในจุดนั้น เช่น ควรชมว่า "ครูเห็นว่าหนูใช้ความพยายามและใช้ความคิดในย่อหน้านี้มากทีเดียว" มากกว่าการบอกแค่ว่า "ย่อหน้านี้หนูเขียนได้ดี" การพูดชมแบบแรกจะมีความหมายต่อเด็กมากกว่าการชมแบบหลัง ในทัศนะของ เจ.ดี. ฮอว์กิ้นส์ ที่ปรึกษาโรงเรียนมัธยมและประธานสมาคมความเชื่อมั่นในตนเองแห่งชาติ ในการเลือกใช้วิธีการชมแบบต่างๆ ครูควรรู้ก่อนว่า ตัวนักเรียนเองมีความคิดต่อผลงานของเขาอย่างไร "ถ้าเด็กพยายามทำในสิ่งที่ยากสำหรับเขา และสามารถทำได้สำเร็จ ถือเป็นเรื่องที่ดี" ดุ๊ค กล่าว

 

ถึงแม้ว่าแนวคิดการชมเด็กที่ว่าควรเลือกชมในบางแง่มุม หรือชมเรื่องจำเพาะเจาะจงเป็นเรื่องที่มีการกล่าวถึงมานานแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ เบนจามิน มาร์เดล กังวลใจคือ ปัจจุบันแนวคิดเรื่องการชมเด็กแบบยิ่งมากยิ่งดีนั้นแพร่ขยายมากขึ้น "การชมแบบไม่เฉพาะเจาะจง การชมแบบอัตโนมัติหรือการชมที่ว่างเปล่า ล้วนเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ทั้งสิ้น" มาร์เดล กล่าว พร้อมกับย้ำว่า การชมที่มีคำอธิบายด้วยเท่านั้นจึงจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ดี

 

 

นอกจากนี้ มาร์เดลยังแนะว่า ครูสามารถช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้เกิดขึ้นกับเด็กได้โดยการสร้างบรรยากาศสบายๆ ในห้องเรียน ให้เด็กรู้สึกได้ถึงความปลอดภัย และมีการสนับสนุนซึ่งกันและกันในหมู่เพื่อนร่วมชั้น "บรรยากาศแบบนี้สำคัญมากกว่าคำชมของครูเสียอีก" มาร์เดล กล่าว

 

เจ.ดี.ฮอว์กิ้นส์ แสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวข้างต้น โดยได้กล่าวว่า การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดีในห้องเรียนจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้เกิดขึ้นกับเด็ก "ผมไม่เชื่อว่าจะมีใครให้ความเชื่อมั่นในตนเองกับใครได้ แต่คุณสามารถสร้างสภาพแวดล้อมให้ความเชื่อมั่นนี้เติบโตได้" ฮอว์กินส์ กล่าวและว่า คำชมที่เด็กได้รับอย่างฟุ่มเฟือยนอกจากจะไม่ส่งผลดีแล้ว ยังก่อให้เกิดผลร้ายตามมาด้วย "ถ้าเด็กได้รับคำชมมากเกินไป การให้คุณค่าในตัวเองของเด็กจะขึ้นอยู่กับสิ่งที่คนอื่นบอก ซึ่งนี่ไม่ใช่ความเชื่อมั่นในตนเองที่ดี ในกรณีเช่นนี้ เด็กจะทำอะไรไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับคำชม"

 

อย่างไรก็ดี มีนักจิตวิทยาบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า การชมให้น้อยมีประโยชน์มากกว่าการชมบ่อยๆ แบรี่ ลูเบทคิน ผู้อำนวยการของสถาบันบำบัดพฤติกรรมแห่งนิวยอร์คซิตี้กล่าวว่า ถ้ามีโอกาส เขาจะพูดชมเด็กให้มากที่สุด สิ่งที่ลูเบทคินกังวล คือ ปัจจุบันเกิดแนวโน้มว่าผู้ใหญ่จะไม่ชมเด็กเลย

 

"ผมมีคนไข้หลายคนที่เล่าว่าสมัยเด็กพวกเขาไม่เคยมีใครชมเลย ดังนั้น ถ้าผมจะทำผิด ผมขอผิดเพราะเลือกข้างที่ใช้คำชมมากเกินไปมากกว่า" ลูเบทคิน กล่าวแต่ทั้งนี้ ลูเบทคินยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่การชมเด็กมากเกินไปอาจทำให้เด็กกลายเป็นคนที่จับจดขี้เบื่อง่าย และมีความพร้อมต่อการเผชิญความยากลำบากในวัยผู้ใหญ่น้อยลง ดังนั้น ในบางกรณี ครูหรือพ่อแม่ควรจะต้องเลือกชมเด็กเป็นกรณีๆ ไป

 

"ถ้าเห็นว่าเด็กเรียนหนักและขยันท่องคำศัพท์ และสอบได้เกรด A พ่อแม่หรือครูควรจะชมเชยในเรื่องนี้ พร้อมกับโยงให้เด็กเห็นว่าผลที่ได้เป็นเพราะเด็กทำงานหนักและขยัน" ลูเบทคิน กล่าว "แต่ถ้าเด็กแค่ทำคะแนนได้ดี โดยที่ไม่ได้ออกแรงมากนัก ก็ไม่จำเป็นต้องไปชมเชยอะไรมาก"

 

ลอรี่ ปาล์มเมอร์ ครูโรงเรียนประถมเจคอบ กันเธอร์ ในนิวยอร์ค กล่าวว่า เธอมองเห็นผลกระทบด้านบวกจากการชมเชยนักเรียนทุกวัน

 

"ฉันทำหน้าที่คล้ายๆ กับเป็นเชียร์ลีดเดอร์" ปาล์มเมอร์กล่าว คำชมทำให้เด็กนักเรียนกระตือรือร้น เวลาที่เด็กๆ ได้ยินครูพูดว่า "พวกเธอเก่งมาก" "งานนี้เยี่ยม" หรือ "พวกเธอเป็นเด็กฉลาด" นั้นมีความหมายต่อเด็กๆ ฉันมองเห็นจากสีหน้าของพวกเขา และดูเหมือนว่าจะช่วยให้เด็กๆ มีความพยายามมากขึ้นหรือยอมเสี่ยงที่จะลองเรียนรู้สิ่งใหม่มากขึ้น เพราะเขารู้ว่าแค่เขาพยายามก็จะได้รับคำชมแล้ว

 

แม้นักจิตวิทยาจะมีความเห็นที่แย้งกันอยู่ในเรื่องของวิธีการชมเชยเด็ก แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นตรงกัน คือ การชมเด็กแต่ละครั้งควรมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างกำลังใจให้เด็กพัฒนาตนเองต่อไป ไม่ใช่แค่ปากหวานชมไปอย่างนั้นเอง

 

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
  • http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=11362&Key=news_research

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท.  อื่นๆ ได้ที่     >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่นๆ ได้ที่    >>> คลิก <<<

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีบทความที่เกี่ยวข้อง