108 เทคนิคการสอน LD (Learning Disabilities) ครบด้านการอ่าน เขียน คำนวณ

108 เทคนิคการสอน LD (Learning Disabilities)
ครบด้านการอ่าน เขียน คำนวณ

ภาพปกบทความเรื่องการบูลลี่ในโรงเรียน ประเด็นสำคัญที่สังคมไม่ควรมองข้าม
 

จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2560 พบว่าเด็กที่มีความพิการในวัย 2-17 ปี 136,562 คน (11%) ซึ่งแบ่งเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ LD ถึง 70,212 คน หรือคิดเป็น 0.5% ของจำนวนเด็กที่มีความพิการประเภทต่าง ๆในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย และสาเหตุหลักที่มีเด็ก LD จำนวนมาก เนื่องจากการขาดความรู้ ความเข้าใจที่ดีจากผู้ปกครอง ครู และโรงเรียน นอกจากนั้นยังพบว่าไม่มีระบบคัดกรองรวมถึงขาดครูที่คอยดูแลเด็ก ทั้งที่เด็ก LD หลายคนมีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัวเอง และยังเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในอนาคต ถ้าเด็ก ๆ เหล่านี้ได้รับการพัฒนาที่ตรงจุด และเหมาะสม

สถิติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเกี่ยวกับเด็ก LD ในไทย
 

เข้าใจเด็ก LD

LD (Learning Disabilities) คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ หลัก ๆ มีอยู่ 3 ด้านด้วยกัน คือ ด้านการอ่าน การเขียน และการคำนวณ หรือสามารถเป็นได้มากกว่า 1 อาการ...ซึ่งเด็ก LD จะเหมือนเด็กปกติทั่วไปมาก แต่เมื่อเข้าเรียนจะเห็นชัดว่าเด็ก LD จะเบื่อการอ่าน อ่านหนังสือไม่เข้าใจ อ่านแบบตะกุกตะกัก และวิชาที่เป็นปัญหาสำหรับเด็ก LD มาก ๆ คือ คณิตศาสตร์ เนื่องจากเด็กอ่านไม่ออก จับใจความไม่ได้ทำให้ตีโจทย์ไม่เป็น ซึ่งกระบวนการที่จะทำให้ทราบได้ว่าเด็กเป็น LD หรือไม่นั้นต้องอาศัยความร่วมมือ และความรู้ความเข้าใจเพื่อคัดกรอง และประเมินเด็ก LD ตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน ร่วมไปถึงผู้เชี่ยวชาญที่จะมาช่วยเหลือเด็ก LD เป็นรายบุคคล

สังเกตเด็กเสี่ยง LD แต่ละช่วงวัย

1. เด็ก LD ที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี

ที่พบว่ามีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) มักจะถูกระบุว่าเป็นเด็กที่มีความล่าช้าทางพัฒนาการ (Developmental Delay) หรือ เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง (Children at Risk) และควรได้รับการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม เมื่อพบว่าเด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงทันที (อ้างอิงพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545)

การมองเห็นตัวอักษรของเด็กLD

2. เด็ก LD ระดับประถมศึกษา

จะพบว่าเด็กในระดับนี้มีความเสี่ยง LD มากที่สุด เนื่องจากเข้าโรงเรียน และเริ่มเรียนรู้ทางวิชาการ เช่น การอ่าน การเขียน และการคำนวณทางคณิตศาสตร์ นอกจากนี้สามารถเจอพฤติกรรมที่เกี่ยวกับทักษะการเคลื่อนไหวที่ล่าช้าไม่สมวัย เช่น การจับดินสอ ลายมืออ่านยาก มีความลำบากในการอ่าน เขียน การคิดคำนวณ หรืออาจมีปัญหาด้านอารมณ์ร่วมด้วย

3. เด็ก LD ระดับมัธยมศึกษา

เด็กวัยนี้เริ่มมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง นอกจากปัญหาด้านการเรียนรู้ทางวิชาการที่มีอย่างต่อเนื่องจากวัยประถมศึกษาแล้ว ยังมีปัญหาในเรื่องของอารมณ์ และสังคม การมองเห็นคุณค่าของตนเองอีกด้วย

 

กระบวนการคัดกรองเด็ก LD สำคัญอย่างไร

“ป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไขเสมอ ไม่ต้องรอให้เด็กเสี่ยง หรือเป็น LD แล้วช่วยเหลือ แต่เราสามารถลงมือช่วยเหลือได้เลย เพราะบางครั้งเด็ก ๆ อาจจะเสียโอกาสที่จะพัฒนาตัวเอง และมีชีวิตที่ดีเพียงเพราะเราช่วยเหลือพวกเขาช้าไป” บางส่วนจากงานอบรมออนไลน์ ของ รศ.ดร.ดารณี ศักดิ์ศิริผล รักษาการหัวหน้าศูนย์พัฒนาศักยภาพมนุษย์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ได้พูดถึงความสำคัญของการคัดกรองเด็กเสี่ยง หรือเด็กที่เป็น LD ว่าไม่จำเป็นต้องรอเมื่อเราสังเกตพฤติกรรมและคิดว่าเด็กมีความผิดปกติด้านใดด้านหนึ่งก็ควรที่จะช่วยเหลือทันที ซึ่งสามารถทำได้โดยคัดกรอง ซึ่งสามารถทำได้จากการคัดกรอง...

1. การคัดแยก / คัดกรองเด็ก LD แบบไม่เป็นทางการ

โดยใช้วิธีสังเกตพฤติกรรมการเรียน เช่น การทำตามคำสั่ง การใช้คำพูดของเด็ก ระดับความสามารถด้านการอ่าน การเขียนตามคำบอก การนับเลข ความเข้าใจเรื่องจำนวนตัวเลข การบอกขนาดสิ่งของ การบอกความแตกต่างของรูปทรง ฯลฯ โดยต้องใช้ผู้สังเกตประมาณ 2-3 คน เพื่อบันทึกพฤติกรรม และตัดสินใจร่วมกันว่าเด็กแต่ละคนมีปัญหาอะไรบ้าง แล้วนำข้อมูลเหล่านี้มาประเมิน และคัดแยกประเภทของเด็กต่อไป

2. การคัดแยก / คัดกรองเด็ก LD แบบเป็นทางการ แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ

2.1. การวัดระดับสติปัญญา : The Color Progressive Matrices : CPM

สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี ใช้เวลาในการทดสอบประมาณ 20-30 นาที ในแต่ละชุดประกอบด้วยแบบทดสอบย่อย 12 ข้อ รวมจำนวนแบบทดสอบทั้งหมด 36 ข้อ การแปลผลจะแสดงระดับเชาวน์ปัญญาเป็นค่า IQ และ เปอร์เซ็นไทล์ ซึ่งในปัจจุบันแบบทดสอบ CPM มีเกณฑ์มาตรฐานสำหรับเด็กไทยที่แยกตามอายุ เพศ และระดับการศึกษาที่พัฒนาโดยนักจิตวิทยา และนักศึกษาจิตวิทยาคลินิกของภาควิชาจิตเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

2.2. วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน : Wild Range Achievement Test (WRAT)

เป็นแบบทดสอบมาตรฐานที่ใช้ในการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่นิยมใช้กันมาก โดยประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3 ด้าน คือ ด้านการอ่าน ด้านการเขียน และด้านคณิตศาสตร์ แล้วนำคะแนนที่ได้มาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ปกติ (โดยทั่วไปเด็ก LD มักมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าชั้นที่ตนเรียนประมาณ 2 ปี)

2.3. ทดสอบความจำ และการเรียนรู้ : Wild Range Assessment of Memory and Learning, Second Edition : WRAML2

เป็นแบบทดสอบมาตรฐานที่มีเกณฑ์มาตรฐานในแต่ละช่วงอายุ ประกอบด้วย 3 แบบทดสอบหลัก 6 แบบทดสอบย่อยที่ใช้ประเมินความจำ

2.4. แบบคัดกรองความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD)

  • แบบคัดแยกความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) ของศาสตราจารย์ศรียา นิยมธรรม ซึ่งพัฒนามาจากเครื่องมือของ McCarthy สำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 4-6 ปีครึ่ง เป็นการทดสอบรายบุคคล ใช้วัดความสามารถของเด็ก 6 ด้าน ได้แก่ การรู้จักซ้ายขวา การจำคำ การวาดรูปทรง การจำตัวเลข การจัดหมวดหมู่ และการใช้ขา
  • แบบสำรวจเด็กที่มีปัญหาในการเรียนรู้ ของศาสตราจารย์ ดร. ผดุง อารยะวิญญู สำหรับเด็กอายุ 6-12 ปี มีครูผู้สอนเป็นผู้ประเมินเด็กแต่ละคน โดยใช้การสังเกตเด็กติดต่อกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน แบบสำรวจนี้ใช้เพื่อสำรวจปัญหาของเด็ก 5 ด้านใหญ่ ๆ ได้แก่ ด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์ ด้านเวลา ทิศทาง ด้านการเคลื่อนไหว และด้านพฤติกรรม

เทคนิคการสอนเพื่อช่วยเหลือ พัฒนาเด็ก LD อย่างเป็นกระบวนการ

หลังจากคัดกรองเบื้องต้นแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การประเมินเด็กว่าพวกเขามีความบกพร่องด้านใดเป็นพิเศษ ซึ่งต้องอาศัยการประเมิน และส่งต่อให้คุณหมอ และผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้วินิจฉัยความบกพร่องของเด็กอีกครั้ง และเมื่อทราบว่าเด็กมีความบกพร่องด้านใดแล้ว สิ่งที่ต้องทำ คือ การวางแผนร่วมกันระหว่างผู้ปกครอง โรงเรียน และคุณหมอ แล้วร่วมกันทำแผน IEP และ IIP สำหรับการสอนของเด็กแต่ละคน เพื่อช่วยเหลือเด็ก LD ได้อย่างตรงจุด

ซึ่งเทคนิค หรือการจัดกิจกรรมเฉพาะสำหรับเด็ก LD คล้ายกับการสอนเด็กทั่วไป แค่ครูควรเพิ่มเติมการสอน เทคนิค หรือวิธีการใช้สื่อ และอุปกรณ์ที่ผ่านประสาทสัมผัสหลายทางทั้งด้านการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อมือ และตา ฝึกการจัดหมวดหมู่ การจำแนก การเรียงลำดับ มีการใช้คำสั่งที่ง่าย และชัดเจน จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยเริ่มจากเทคนิคการเตรียมความพร้อมก่อนการเรียนรู้ หลังจากนั้นก็เข้าเรื่องเนื้อหาการสอนตามแผนที่วางไว้

*เทคนิคการสอนสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องด้านการอ่าน

เริ่มตั้งแต่การฝึกแยกเสียงพยัญชนะ อาจจะใช้กิจกรรม หรือแบบฝึกหัดเสริมที่เน้นการสอนไปกับรูปภาพเพื่อให้เด็กจดจำได้เร็วขึ้น

  • ฝึกเชื่อมเสียงตัวอักษรและประสมคำ โดยเริ่มจากจากการนำพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์มาประสมกันแล้วฝึกอ่านแบบแจกลูกสะกดคำ
  • ฝึกการแจกลูกสะกดคำในมาตราแม่ ก กา ที่ง่ายที่สุดก่อน เช่น กา สะกดว่า กอ – อา – กา ใช้เทคนิคจำด้วยภาพมาเสริมการสอนจะช่วยให้เด็กสนุกกับการแจกลูกสะกดคำมากขึ้น นอกจากนั้นอาจจะต้องให้เด็ก ๆ อ่านสะกดคำ แล้วเขียนคำพร้อม ๆ กัน หลังจากนั้นให้เด็กลองแจกลูกสะกดคำ แบบเทียบเสียง คือ นำรูปคำมาแจกลูกโดยการเปลี่ยนพยัญชนะต้น หรือพยัญชนะท้าย เช่น เมื่อจำคำว่า บ้านได้แล้ว ก็ให้ลองหาพยัญชนะอื่นมาเปลี่ยน "บ" บ้าง เช่น ก้าน ป้าน ร้าน ล้าน ค้าน เป็นต้น
  • สอนคำศัพท์ และทบทวนความเข้าใจด้านภาษา โดยให้เด็ก ๆ ลองอ่านคำศัพท์ไปพร้อมกับภาพ แล้วค่อย ๆ อธิบายความหมายของคำ หรือยกตัวอย่างจากสิ่งรอบตัวเด็ก ก็จะช่วยให้พวกเขาสนุกกับการอ่าน และจดจำได้ดีขึ้น

เทคนิคที่ 1 Advanced Organizer

เป็นเทคนิคที่ให้เด็กได้คิดก่อนอ่าน หรือคาดเดาก่อนอ่านเนื้อเรื่อง เพื่อให้เด็กมีเป้าหมายในการอ่านอยู่ในใจก่อน โดยพัฒนามาจากทฤษฎี Meaningful Verbal Learning ซึ่งเป็นวิธีการสอนที่มีผู้วิจัยนำมาใช้สอนกับเด็ก LD (อัญชลี ชื่นชัยมงคล, 2556) โดยมีขั้นตอนทั้งหมด 6 ขั้นตอนดังนี้

  1. ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน : สนทนา และตั้งคำถามเพื่อทบทวนความรู้ และประสบการณ์เดิมของเด็ก เพราะจะช่วยให้เราสามารถทราบพื้นฐานของเด็กแต่ละคนว่าต้องสอนเนื้อหาในระดับไหน
  2. ขั้นสอน : จัดกิจกรรมการสอน โดยเน้นให้เด็กแสดงความคิดเห็นจากหัวข้อที่เรียน หรือในกรณีถ้าพวกเขาไม่สามารถตอบได้ทันที เราสามารถช่วยเด็ก ๆ เขียนบนกระดาษ หรืออาจจะนำสื่อที่เป็นรูปภาพ หรือภาพเคลื่อนไหว เพื่อช่วยให้เด็กวิเคราะห์เชื่อมโยงกับความรู้เดิมเพื่อหาคำตอบไปสู่ความรู้ใหม่ ซึ่งในขณะที่สอนเด็ก ๆ สามารถตั้งคำถามเป็นระยะ เพื่อกระตุ้นให้เด็กแสดงความคิดเห็น
  3. ขั้นการอ่านจับใจความแบบผ่าน ๆ : ครูแจกบทความให้เด็กอ่านแบบคร่าว ๆ 1 รอบก่อน เพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจ
  4. ขั้นการอ่านจับใจความอย่างละเอียด : ให้เด็กอ่านจับใจความอย่างละเอียดอีก 1 รอบเพื่อให้เด็กตรวจคำตอบ
  5. ขั้นตรวจสอบความเข้าใจ : หลังจากนั้นลองเขียนในสิ่งที่มี และไม่มีอยู่ในบทความปนกันไป แล้วให้เด็กช่วยกันตรวจสอบคำตอบว่ามีอยู่ในบทความหรือไม่ ซึ่งครูสามารถอธิบายให้เด็กเชื่อมโยงข้อมูลใหม่ได้ในขั้นตอนนี้
  6. ขั้นบูรณาการ : เปิดโอกาสให้เด็กซักถามข้อสงสัยที่มีในบทเรียน แล้วทำแบบฝึกหัดให้เด็กสรุปเป็นแผนผังความคิด หลังจากนั้นตรวจสอบความถูกต้อง และให้เด็กอ่านจับใจความอีกครั้ง เป็นการฝึกให้พวกเขาเกิดการจดจำได้ในระยะยาว และคงทนขึ้น
 เทคนิคการสอนเล่าเรื่องประกอบภาพของเด็กLD

เทคนิคที่ 2 การเล่าเรื่องประกอบภาพ

จะช่วยให้เด็กอ่านคล่อง จำง่าย และจำได้ยาวนานขึ้น ด้วยการสอนให้เด็กจดจำพยัญชนะบางตัวที่เป็นปัญหาในการจำของพวกเขา นอกจากจะสอนให้เด็กดูจากรูปภาพ และสัญลักษณ์ตัวอักษรแล้ว การเล่าเรื่องก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถนำมาใช้ในการสอนเพื่อส่งเสริมการจดจำได้

 
เทคนิคการใช้เพลงสอนเด็กLD

เทคนิคที่ 3 การใช้เพลง

โดยเฉพาะเพลงที่มีเนื้อหาตรงกับเนื้อเรื่องที่เราจะสอนจะช่วยให้เด็ก Dyslexia จดจำได้ดี และยาวนานขึ้น นอกจากนั้นการเพิ่มท่าทางประกอบเพลงยิ่งทำให้เด็ก ๆ สามารถจดจำเนื้อหาในการสอนได้ง่ายกว่าเดิม

 
เทคนิคใช้บทกลอนสอนเด็กLD

เทคนิคที่ 4 การใช้บทกลอน

ต้องเป็นบทกลอนที่ไม่ยาวมากเพื่อให้พวกเขาจดจำง่ายขึ้น หรือการใช้คำสัมผัส และมีรูปภาพประกอบก็ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี

 

*เทคนิคการสอนสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเขียน

  • ฝึกเขียนคำที่เด็กมักเขียนผิดบ่อย ๆ ซึ่งเราสามารถคัดกรองว่าเด็กคนไหนชอบเขียนคำไหนผิดบ่อย ๆ ได้จากกิจกรรมหรือแบบฝึกหัด
  • สอนให้เด็กวางแผนการเขียนและตรวจทานก่อนทุกครั้ง

เช่น การเขียนพยัญชนะไทย 1 ตัว อาจให้เด็กลองวางแผนดูว่าเขาควรเริ่มลากเส้นพยัญชนะตัวนี้จากส่วนไหนก่อนเพราะอะไร หลังจากนั้นก็เริ่มแนะนำวิธีการเขียนพยัญชนะไทยที่ถูกต้องไปทีละ1-3 ตัวในแต่ละครั้ง หรืออาจจะเพิ่มเติมจุดเริ่มต้น และจุดจบเป็นสี เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำของเขา

เทคนิคที่ 1 Color Code

ให้สีนำสายตาสร้างการจดจำการเขียนพยัญชนะไทยให้ถูกต้อง โดยกำหนดจุดเขียวเป็นจุดเริ่มต้น และจุดสีแดงเป็นจุดจบ ใช้เทคนิคนี้ช่วยสร้างการจดจำให้เด็กได้ไว และถูกต้อง

เทคนิคที่ 2 ความคิดแรก First Though

เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ดีเพื่อพัฒนาการเขียน โดยใช้รูปภาพเป็นสื่อ วิธีการ คือ ให้เด็กดูรูปภาพที่เราเตรียมไว้ หลังจากนั้นให้พวกเขาเขียนคำจากความคิดแรกที่เห็น นอกจากเป็นการฝึกให้พวกเขาย่อยความคิดในสมองของตัวเองอย่างเป็นระบบแล้ว ยังช่วยให้เราเห็นพฤติกรรม และหลักการคิดของเด็กแต่ละคนเพื่อใช้ในการปรับพฤติกรรมอีกด้วย

เทคนิคที่ 3 เทคนิคการสอนเขียนของฮอร์น (1) หรือ Horn Method

ซึ่งเทคนิคนี้จะเน้นการตรวจสอบเด็กเป็นระยะ ๆ มีทั้งหมด 6 ขั้นตอนที่สามารถใช้สอนเขียนเด็ก LD ได้ไม่ยาก

ขั้นที่ 1 : ดูคำ และพูดกับตัวเอง : ใช้บัตรภาพแล้วอ่าน หรือพูดให้เด็กฟัง หลังจากนั้นให้พวกเขาพูด หรืออ่านคำที่ได้ยิน (วิธีการนี้เด็กจะเหมือนกับการพูดกับตัวเอง พวกเขาจะใช้การเห็น และการได้ยินในการรับรู้ และจดจำ)

ขั้นที่ 2 : หลับตา และนึกถึงคำในหมวดเดิม : แล้วให้เด็กอ่าน หลังจากนั้นให้พวกเขาหลับตา และนึกถึงคำนั้นว่ามีตัวอักษรอะไรบ้าง มีจำนวนกี่ตัว และแต่ละตัวอยู่ในตำแหน่งใดบ้าง

ขั้นที่ 3 : ตรวจสอบครั้งที่ 1 : หลังจากนั้นให้เด็กลืมตา และเขียนคำที่กำหนดว่ามีอักษรอะไรบ้าง มีจำนวนกี่ตัว และแต่ละตัวอยู่ในตำแหน่งใดบ้าง (ถ้าเด็กเขียนถูกต้องให้ไปทำขั้นต่อไปได้เลย แต่ถ้าเด็กเขียนผิดให้กลับไปเริ่มในขั้นตอนที่ 1 ใหม่อีกครั้ง)

ขั้นที่ 4 : ปิดคำ และฝึกเขียน : ให้เด็กเขียนคำหมวดเดิม โดยการปิดคำที่กำหนดไม่ให้เด็กเห็น หลังจากนั้นให้พวกเขาเขียนคำลงบนกระดาษ สมุด ฯลฯ

ขั้นที่ 5 : ตรวจสอบครั้งที่ 2 : หลังจากเด็กเขียนคำเสร็จแล้ว ลองเปิดคำที่ปิดไว้ให้เด็กตรวจสอบความถูกต้องจากสิ่งที่ตัวเองเขียน (ถ้าพวกเขาเขียนถูกต้องให้ไปทำขั้นต่อไปได้เลย แต่ถ้าเด็กเขียนผิดให้กลับไปเริ่มในขั้นตอนที่ 1 ใหม่อีกครั้ง)

ขั้นที่ 6 : ปฏิบัติซ้ำในขั้นที่ 4 และ5 : ให้เด็กกลับไปฝึกซ้ำอีก 2 ครั้ง ตั้งแต่ขั้นตอนที่ 4 ถึงขั้นตอนที่ 5 เพื่อให้เด็กจดจำได้อย่างแม่นยำ

หรือสามารถจัดกิจกรรมให้เด็ก LD สนุกกับการเขียนมากขึ้น เช่น กิจกรรมพยัญชนะที่หายไป

อุปกรณ์ที่เราต้องเตรียม คือ
  1. กระดาษลังหรือกระดาษที่มีความหนา (เอาไว้ใช้เขียนตัวแม่แบบพยัญชนะ)
  2. สีเทียน สีไม้ ดินสอ
  3. กระดาษขาว
ขั้นเตรียมความพร้อม
  • นำกระดาษลังหรือกระดาษที่มีความหนาหน่อยนะคะ และใช้ท้ายดินสอเขียนแบบพยัญชนะไทยลงไป
  • หลังจากนั้นเตรียมกระดาษขาว 1 แผ่น แล้วเขียนพยัญชนะไทย และเว้นพยัญชนะที่เราต้องการให้เด็กไว้สัก 2-3 ตัว เช่น ก ข ....... ค ต ฆ ......ง
  • นำกระดาษที่เขียนพยัญชนะออกมาให้เด็กลองเขียนไปพร้อมกันหลังจากนั้นลองถามเด็ก ๆ ว่าพยัญชนะที่หายไปเป็นพยัญชนะตัวไหน
  • เมื่อพวกเขารู้แล้วว่าพยัญชนะตัวไหนหายไปก็นำกระดาษขาว 1 แผ่นวางทับกระดาษลังที่เราเขียนพยัญชนะไว้แล้ว
  • หลังจากนั้นให้เด็ก ๆ เลือกสีที่ตัวเองชอบมาขูดสีหาพยัญชนะตัวที่หายไป (ร่องนูน ๆ ที่เด็ก ๆ ขูดสีจะช่วยเสริมการจดจำพยัญชนะได้)

ความบกพร่องทางการคำนวณ

เราอาจมองหากิจกรรม หรือแบบฝึกที่เน้นรูปภาพเพื่อให้เด็กเชื่อมโยง และเห็นภาพการเปรียบเทียบจำนวน ขนาด หรือปริมาณได้ชัดขึ้น และสอนหลักการคำนวณพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ เช่น การบวก ลบ คูณ หาร ตามลำดับความยากง่าย ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนซ้ำบ่อย ๆ ให้เด็กคุ้นชิน และพยายามใช้ภาษาคณิตศาสตร์เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ได้ง่ายมากขึ้น

 

7 เทคนิค และกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะด้านคณิตศาสตร์ เพื่อการสอนเด็ก LD คิด คำนวณคล่อง เข้าใจตรรกะทางคณิตศาสตร์ได้เร็วขึ้น

1. การใช้โดมิโน

โดมิโนกับการจดจำตัวเลข โดยเริ่มต้นด้วยการให้เด็กสังเกตแต้มในลูกเต๋า และเรียนรู้ผ่านการเล่น กระตุ้นให้พวกเขาสนุกในการเรียนรู้มากขึ้น

2. การใช้เกม

ลองหาเกมที่น่าสนใจ ท้าทายความคิด เพื่อให้เด็กลองแก้ปัญหาแทนการจดจำเพียงอย่างเดียว อาจจะใช้เทคนิคใช้สีช่วยจัดระบบของงาน และการจดจำได้ดีขึ้น

3. การใช้วัตถุที่จับต้องได้

ให้เด็กได้เห็น และสัมผัสกับวัตถุจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจหลักการทางคณิตศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น เช่น เลโก้ บล็อกไม้ต่าง ๆ สามารถนำมาสอนเรื่องการบวก ลบ ง่าย ๆ ได้

4. การเรียนรู้ภาษาทางคณิตศาสตร์

เด็กที่มีทักษะทางภาษาที่ดีจะช่วยให้กระบวนการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ของพวกเขาง่ายขึ้น เช่น เครื่องหมาย "บวก" คือ การเพิ่มขึ้น เครื่องหมาย "ลบ" คือ การลดลง ซึ่งเราสามารถอธิบายคำศัพท์พื้นฐานให้เด็กฟัง และให้เด็กอธิบาย หรือพูดคุยเกี่ยวกับคำนั้น ๆ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจ และสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง

5. การสร้างแบบจำลอง

สำหรับการสอนที่ต้องพูดถึงวัตถุขนาดใหญ่ หรือสิ่งที่เข้าใจยาก สามารถใช้การวาดรูปเพื่ออธิบาย หรือแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้

6. การใช้เครื่องอำนวยความสะดวก

จะช่วยสนับสนุนการเรียนคณิตศาสตร์ของเด็ก ๆ ได้ เช่น อนุญาตให้เด็ก LD ใช้เครื่องคิดเลขเมื่อต้องแก้โจทย์ปัญหาที่ซับซ้อน

7. การสอนด้วยความเข้าใจ

การแบ่งเนื้อหาออกเป็นข้อย่อย ๆให้ชัดเจนจะช่วยในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ กลุ่มนี้ได้ สิ่งสำคัญของการสอนเด็ก LD คือการสอนด้วยความเข้าใจ ให้เหตุผลกับปัญหา และให้เด็กฝึกคิดให้เข้าใจ มากกว่าให้เด็กนั่งท่องจำ

นอกจากเทคนิค และกิจกรรมที่ช่วยให้เด็ก LD พัฒนาการเรียนรู้ได้ดีขึ้นแล้ว ครูควรเปิดโอกาสให้เด็กที่ไม่ได้โดดเด่นมากได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ต่อหน้าเพื่อน ๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีในการสร้างแรงจูงใจที่ดีในการเรียนรู้ นอกจากนั้นการเปิดโอกาสให้เขาได้ทดลองทำในสิ่งที่พวกเขาชอบ ผู้ปกครอง หรือ ครู ต้องสังเกตแล้วสนับสนุนให้เขาได้เป็นตัวของตัวเอง สิ่งนี้จะทำให้เด็กที่เป็น LD เห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-Esteem) และเรียนรู้ได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

 
 
แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง