1 ปีผ่านไป… วิทยาการคำนวณ จำเป็นแค่ไหน? ทำไมเด็กไทยต้องเริ่มเรียน

1 ปีผ่านไป… วิทยาการคำนวณ จำเป็นแค่ไหน? ทำไมเด็กไทยต้องเริ่มเรียน

 

วิทยาการคำนวณไม่ใช่วิชาที่สอนให้เด็กเขียน Coding หรือโตไปเป็นโปรแกรมเมอร์ แต่ฝึกให้เด็กมีพื้นฐานทางความคิดอย่างเป็นระบบ (Systematic)
• วิทยาการคำนวณสร้างโอกาสให้เด็กที่จะเติบโตไปในโลกยุคใหม่ เพื่อเตรียมรับอาชีพในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น เพื่อสามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้
• โลกยุค 4.0 นี้ เด็ก ๆ จะต้องรู้จักแยกแยะข่าวสาร การตรวจสอบข่าวปลอม ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ เรียกว่ารู้เท่าทันสื่อ

 

 

    เป็นคำถามหลาย ๆ คนอาจจะยังสงสัย  และเป็นกังวล  ว่าทำไมถึงต้องให้เด็กเรียน  วิชาวิทยาการคำนวณ  และเป็นวิชาบังคับ  เมื่อได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ  รศ.ยืน ภู่วรวรรณ  แล้ว   จะเข้าใจถึงจุดประสงค์ของวิชานี้ว่า  วิชาวิทยาการคำนวณ   ไม่ได้สอนให้เด็กหันมาทำอาชีพโปรแกรมเมอร์   แต่สอนพื้นฐานของความคิด ฝึกให้เด็กมีพื้นฐานความคิดอย่างเป็นระบบ   (Systematic)   มีจินตนาการ  มีความคิดสร้างสรรค์  คิดแบบนามธรรมเป็น   เป็นวิชาที่ต้องการพัฒนาความคิดของเด็กนั่นเอง  วิทยาการคำนวณ  สอนให้คิดเป็น ใช้เป็น และรู้เท่าทันเทคโนโลยี

 

   จะเห็นว่า วิชาวิทยาการคำนวณ เป็นวิชาที่เน้นไปที่กระบวนการสร้างความคิด ไม่ใช่การสอนให้เขียนโค้ด หรือสร้างเด็กให้เป็นโปรแกรมเมอร์ และฝึกเด็กให้มีทักษะที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน รู้เท่าทันสื่อดิจิทัล   ทั้งเรื่องสิทธิ หน้าที่ ความปลอดภัย จริยธรรม และความผาสุกของสังคมโดยรวม ร.ศ. ยืน ได้อธิบายถึงขอบเขตของการสอนวิชาวิทยาการคำนวณ โดยเน้น 3 องค์ความรู้ ดังนี้

 

  1.             การคิดเชิงคำนวณ (computational thinking)              สอนวิธีคิดและแก้ปัญหาเชิงวิเคราะห์ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบได้ในทุกๆเรื่อง
  2.             พื้นฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (digital technology)              สอนให้เด็กเรียนรู้เทคโนโลยีจนสามารถประยุกต์มาสร้างสรรค์งานได้อย่างเหมาะสม
  3.             พื้นฐานการรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร (media and information literacy)              สอนให้แยกแยะว่าข้อมูลใดเป็นจริงหรือความคิดเห็น, การตรวจสอบข่าวปลอม, ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ รู้กฎหมายและลิขสิทธิ์ทางปัญญาต่างๆ

 

   การสนับสนุนให้เรียนวิชาวิทยาการคำนวณตั้งแต่ยังเด็ก จะมีประโยชน์กับพวกเขาในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะโอกาสในการทำงาน ที่เด็กยุคใหม่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี เพื่อที่จะสามารถแข่งขันได้ในตลาดงานในอนาคตได้

 

 

 

 

 

 

ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมในการเรียนวิชา วิทยาการคำนวณ แค่ไหน

 

     ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและนโยบายจากภาครัฐที่เร่งรัดให้บรรจุ วิชาวิทยาการคำนวณ ไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2560 และเริ่มบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2561 ซึ่งอาจทำให้ผู้ปกครองและคุณครูหลาย ๆ ท่านเกิดความกังวลใจถึงความพร้อมของเด็ก ว่ามีความพร้อมแค่ไหนที่จะเรียนวิชานี้ โดยเฉพาะเด็กประถม?

 

    รศ. ยืน ภู่วรวรรณ เป็นนักการศึกษาที่หัวก้าวหน้ามาก เพราะท่านสนับสนุนให้เยาวชนได้เรียนเขียนโปรแกรม รวมทั้งทักษะในการคิดเชิงคำนวณมาตั้งแต่ราวๆ 40 ปี ที่แล้ว และในฐานะที่ปรึกษาของ สสวท. ท่านเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้วิชาวิทยาการคำนวณกลายเป็นวิชาพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนต้องเรียน โดยเดิมทีวิชานี้ชื่อวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สังกัดอยู่ในกลุ่มสาระการงานพื้นฐานอาชีพ

 

    หลายฝ่ายใช้เวลาผลักดันจนกระทั่งมีการปรับปรุงครั้งล่าสุด ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ประกาศให้วิชาวิทยาการคำนวณย้ายมาอยู่ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ และเป็นวิชาบังคับที่เด็กต้องเรียนทั้ง 12 ชั้นปี ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องของวิทยาการคำนวณมานานแล้ว และร.ศ.ยืน ภู่สุวรรณ ท่านก็เชื่อว่าเด็กยุคสมัยนี้จะมีความพร้อมต่อการเรียนวิชาวิทยาการคำนวณอย่างแน่นอน

 

 

 

                                     

 

 

    “ประมาณปี 2520 กว่าๆ  ตอนนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ยังเป็นเครื่อง  8  บิต  เป็นเครื่องแอปเปิ้ล  ค่ายจึงนำภาษาโลโก้มาสอนเด็ก โดยที่เราคิดว่าเด็กที่เกิดมานั้นเขาเกิดมาในยุคที่เราเรียกว่าเป็น  native  ทางดิจิตอล  ยกตัวอย่างเช่น  เด็กไทยเกิดมาในสิ่งแวดล้อมของภาษาไทย  เขาจึงพูดภาษาไทยได้โดยไม่ต้องมีใครสอน เพราะฉะนั้นเด็กที่เกิดในยุคดิจิตอลนั้นเขาก็จะเป็น digital native หมายความว่าไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขา ที่จะเรียนรู้หรือใช้คอมพิวเตอร์ได้เป็น”

 

    และเป็นที่แน่นอนแล้วว่า   กระทรวงศึกษาธิการได้บรรจุวิชาใหม่  “วิทยาการคำนวณ”  นี้และเริ่มต้นการเรียนการสอนในปีการศึกษาแรกของปี 2561 โดยทยอยสอนปีละ  4  ชั้น  เพื่อเรียนรู้และปรับตัว  ในปีนี้ระดับชั้นที่ได้เริ่มเรียนวิชาวิทยาการคำนวณเป็นวิชาบังคับ  คือเด็กชั้น  ป.1  , ป.4  , ม.1  และ  ม.4 และในปีการศึกษา 2562 จึงเริ่มสอนชั้น ป.2, ป.5, ม.2 และ ม.5 จนกระทั่งถึงปี 2563 จึงขยับไปสอนชั้น ป.3 ,ป.6 , ม.3 และ ม.6 ใช้เวลาสามปีในการสอนจนครบทั้ง 12 ชั้นปี         
การทยอยสอนแบบนี้ เหตุผลคือเพื่อให้นักเรียนปรับตัวได้ทัน โดยเฉพาะเด็กที่เรียนหลักสูตรเก่ามาก่อน รวมทั้งเพื่อให้บุคลากรด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้อง มีเวลาในการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสม มีโอกาสได้ทดลองและปรับปรุงจoพัฒนาความเชี่ยวชาญขึ้นเรื่อยๆ

 

     รศ. ยืน ได้สรุปสาระสำคัญของวิชาวิทยาการคำนวณทิ้งท้ายไว้อีกครั้งว่า “สิ่งสำคัญคือเราไม่อยากให้เด็กมองตรงนี้เป็นอาชีพ แต่มองตัวนี้เป็นพื้นฐานของความคิด ถ้าถามว่าเรียนวิชาวิทยาการคำนวณไปทำไม คำตอบคือ เรียนเพื่อเป็นพื้นฐานของความคิดอย่างเป็นระบบ (Systematic) มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดแบบนามธรรมเป็น วิชานี้คือการพัฒนาความคิดของเด็ก”

 


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
  • บทสัมภาษณ์ รศ.ยืน ภู่วรวรรณ Blog สอนลูกเขียนโปรแกรม โดย Dek-D

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท.  อื่นๆ ได้ที่     >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่นๆ ได้ที่    >>> คลิก <<<

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีบทความที่เกี่ยวข้อง