Upskill เรื่อง Active Learning กับ Concept และ Keywords สำคัญที่ครูจำเป็นต้องรู้

 

ชวน Upskill เรื่อง Active Learning กันอีกสักครั้ง

กับ Concept และ Keywords สำคัญที่ครูจำเป็นต้องรู้

 

 

 

 

                 

 

  • Active Learning คือการสอนที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักเรียนในกระบวนการสร้างความรู้ โดยสามารถดึงศักยภาพ ทักษะ และการคิดขั้นสูงผ่านความรู้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างรากฐานของการเรียนรู้อย่างถาวร

  • แนวคิดสำคัญของ Active Learning คือ การเน้นไปที่ “กระบวนการเรียนรู้” มากกว่า “เนื้อหาวิชา” เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ หรือสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในตนเองด้วยการลงมือปฏิบัติจริง

 

ถ้าเราถามเด็ก ๆ ของเราว่า ...

เด็ก ๆ คะยังจำข้อความในหนังสือที่ครูให้อ่านมาเมื่อสองอาทิตย์ก่อนได้ไหม? หรือ ยังจำเรื่องแหล่งกำเนิดเงาที่ครูให้เรียนผ่านคลิปวิดีโอเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนได้อยู่รึเปล่า? 

มั่นใจว่า เด็ก ๆ หลายคนน่าจะตอบว่า “จำได้” กันเป็นแถว แต่จะจำได้มากแค่ไหนนั้น น่าจะเป็นรายละเอียดที่พวกเขาคงต้องนึกกันอีกสักพัก (ใหญ่ ๆ) บางทีสิ่งที่เด็ก ๆ บอกกับเราอาจจะเหลือรายละเอียดเพียงแค่ 10 – 30 เปอร์เซ็นต์จากสิ่งที่เราอ่าน หรือดูมาทั้งหมดเลยก็ได้ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?

 

ในโลกของ Active Learning ตาดู หูฟัง ไม่เท่าลงมือทำแล้วได้เอาไปใช้จริง

เอดการ์ เดล นักศึกษาศาสตร์ชาวอเมริกัน อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ ผู้พัฒนาที่มีชื่อเสียงในเรื่อง Cone of Experience หรือ กรวยประสบการณ์ เขาได้ทำผลงานหลายอย่างทั้งการเรียนรู้ผ่านการสอนด้วยภาพและเสียง รวมไปถึงการวิเคราะห์เนื้อหาของภาพเคลื่อนไหว

เอดการ์ เดล เชื่อว่าประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม จะทำให้เกิดการเรียนรู้แตกต่างจากประสบการณ์ที่เป็นนามธรรม และได้แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสื่อโสตทัศนูปกรณ์ต่าง ๆ และขั้นตอนของประสบการณ์เรียนรู้และการใช้สื่อแต่ละประเภท ดังนี้

 

Cone of Experience ใน Active Learning

 

Cone of Experience คือ ภาพของการจำลองการเรียนรู้ที่เปรียบเทียบการเรียนรู้แต่ละอย่าง โดยการจัดเรียงลำดับในกรวยไม่ได้ขึ้นอยู่กับความยากแต่ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียนรู้ และจำนวนของประสาทสัมผัสที่เกี่ยวข้อง การเรียนในห้องเรียนหากเราให้เด็ก ๆ ได้อ่าน และได้ยินสิ่งที่ครูบอก เมื่อเวลาผ่านไประดับความจำที่ค้างอยู่จะเหลือเพียง 10% - 20% เท่านั้น แต่หากพวกเขาได้ลงมือทำความรู้ที่ยังคงอยู่จะมีถึง 90% เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยเหตุนี้รูปแบบการเรียนรู้แบบ Active Learning จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะเรียกว่า Active Learning ได้นั้น จะต้องให้ผู้เรียนได้ฝึกคิด ลงมือทำ เข้าใจ และเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ทดลองความรู้ใหม่ เพื่อผสมผสานเข้ากับความรู้ หรือทักษะที่มีความสัมพันธ์กัน จนส่งเสริมให้เกิดเจตคติที่อยากจะเรียนรู้ไปตลอดชีวิต (Life long learning)

 


 แนวคิดสำคัญของ Active Learning

Active Learning เป็นคำศัพท์ที่ใช้อธิบายกลยุทธ์การสอนที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักเรียนในกระบวนการสร้างความรู้ เช่น การเขียน การอภิปราย การแก้ปัญหา การรวบรวม การสังเคราะห์ ตั้งคำถาม และลงมือทำ เป็นวิธีที่จะดึงศักยภาพ ทักษะ และการคิดขั้นสูงผ่านความรู้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างรากฐานของการเรียนรู้อย่างถาวร

แนวคิดสำคัญของ Active Learning คือ การเน้นไปที่ “กระบวนการเรียนรู้” มากกว่า “เนื้อหาวิชา” เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ หรือสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในตนเองด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ผ่านสื่อ หรือกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีครูผู้สอนเป็นผู้แนะนำ หรืออำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ขึ้น โดยใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญหา และสร้างสรรค์

 

Key words สำคัญของการเรียนรู้แบบ Active Learning

เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Student centered)

               ห้องเรียนที่ "มีครูเป็นศูนย์กลาง" แบบดั้งเดิมไม่สามารถตอบสนองความสามารถที่หลากหลายของนักเรียนแต่ละคนได้ เพราะเด็กแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ในสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางห้องเรียนจะถูกสร้างให้เป็นสภาพแวดล้อมที่ทุกคนทำงานร่วมกัน โดยมี “ครูเป็นโค้ช (coach) และมีนักเรียนในฐานะผู้ทำงาน” ผ่านการร่วมมือวิธีการต่าง ๆ เช่น การระดมสมองกัน (Brainstorm) การเรียนรู้ผ่านโครงงาน (Project-based Learning) หรือ การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning)

 

การคิดขั้นสูง (Higher Order Thinking)

             การเรียนรู้เนื้อหา และการท่องจำแบบเดิมไม่ได้เป็นการเรียนรู้เพื่อคิดต่อยอด แต่การส่งเสริมทักษะการคิดขั้นสูงเป็นการสร้างแนวคิดเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินข้อมูล ทักษะการจำแบบเดิมจะทำให้นักเรียนจดจำคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียวสำหรับข้อสอบแบบปรนัย แต่ทักษะการคิดขั้นสูงจะช่วยให้นักเรียนสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างพื้นฐานการคิดเชิงวิพากษ์ได้ และต่อยอดไปในทุกขั้นตอนของชีวิต

 

เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by doing) 

         ระดับการจดจำที่จำได้มากและยาวนานที่สุดตามโมเดลของ Cone of Experience คือการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำเพราะเป็นระดับที่ผู้เรียนได้ใช้ประสาทสัมผัสเยอะที่สุดสามารถเห็น ได้ยิน สัมผัส และมีประสบการณ์ตรงจากการทำงานด้วยตนเอง เป็นผลให้การเรียนรู้เกิดขึ้นจากประสบการณ์จริงเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่สมบูรณ์

 

การสร้างความรู้ด้วยตนเอง    (Constructivism)

            เป็นการมุ่งเน้นการเชื่อมโยงตีความระหว่างข้อเท็จจริงเดิม และส่งเสริมความเข้าใจใหม่ในของนักเรียน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการวิเคราะห์ ตีความ เป็นกระบวนการของ “การสร้างความหมาย” เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาความรู้ ความเข้าใจที่มีอยู่เพื่อให้เกิดความเข้าใจในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และก่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ของตัวเอง

 

การเรียนรู้จากปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Constructivism)

          เป็นการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนโดยร่วมกันนำเสนอแนวคิด ปัญหา หรือสถานการณ์เฉพาะเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนคติ เกิดเป็นการสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน

 

สร้างนิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learner)

           การสอนแบบ Active Learning ส่งผลต่อความอยากรู้อยากเห็น ความหลงใหลในการเรียนรู้ ซึ่งเป็นลักษณะที่กำหนดนิสัยของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งวิธีการนี้ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ในโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานที่เด็ก ๆ จะเติบโตไปในอนาคตอีกด้วย

 

 

องค์ประกอบสำคัญของ Active Learning

 
องค์ประกอบของ Active Learning
 

           

  1. การเรียนรู้ผ่านการคิดขั้นสูง (Thinking Based Learning)
    การเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นการเน้น “วิธี” ที่นักเรียนรู้ ไม่ใช่แค่สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เท่านั้น นักเรียนต้องเรียนรู้วิธีคิดมากกว่าที่จะรับข้อมูลจากครูเพียงอย่างเดียว ครูต้องแน่ใจว่านักเรียนจะมีส่วนสำคัญในการบวนการคิดเพื่อต่อยอดการเรียนรู้ของตัวเอง

  2. เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by doing)
    การเรียนรู้แบบ Active Learning ควรทำให้มีอุปสรรคในการเข้าถึงการเรียนรู้ที่น้อยที่สุด และให้นักเรียนได้มีโอกาสการลงมือปฎิบัติ ซึ่งในที่นี้ไม่จำเป็นต้องการทำกิจกรรมออกมาเป็นชิ้นงานหรือนวัตกรรมเพียงอย่างเดียว การร่วมมือกันวางแผน วิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือการแชร์ไอเดีย ก็จัดว่าเป็นการลงมือทำรูปแบบหนึ่ง

  3. การเรียนรู้จากการทำงานร่วมกัน (Cooperative Learning) 
    เป็นกิจกรรมที่เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครู และนักเรียนรวมทั้งปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนกับนักเรียน ให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงความรู้ได้ภายใต้การแนะนำของครู หรือการทำงานร่วมกันกับเพื่อน

  4. การเรียนรู้จากการสำรวจ และค้นหา (Inquiry-Based Learning)
    เป็นการกระตุ้นให้นักเรียนได้ค้นหาโดยเชื่อมโยงความสนใจและประสบการณ์โดยตรงระหว่างเรื่องที่สอนกับความสนใจของตัวเอง

 

ดังนั้น Active Learning จึงหมายถึงกระบวนการเรียนรู้ใด ๆ ที่ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ผ่านการคิด การลงมือทำผ่านการ วิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือประเมินข้อมูลเพื่อให้พวกเขาสามารถนำข้อมูลนั้นไปใช้กับปัญหาใหม่ได้ และก่อให้เกิดแรงบันดาลใจที่ส่งผลให้เกิดเป็นนิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

 

 

แหล่งอ้างอิง

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. Active Learning อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

 
 

 

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง