พร้อมหรือยัง ? การกลับมาของการเรียนการสอนแบบ On-site

พร้อมหรือยัง ? การกลับมาของการเรียนการสอนแบบ On-site

 

On site

 

 

กลับมาเรียนแบบ On-site ครั้งนี้ ทางสถานศึกษาและคุณครู ต้องรับมือกับการเรียนการสอนอย่างไร เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด 

 

          นานแค่ไหนแล้วที่ไม่มีกิจกรรมหน้าเสาธง เจอหน้ากันทุกเช้า นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โรงเรียนทั่วประเทศจะทยอยเปิดต้อนรับให้นักเรียนกลับมาเรียนที่โรงเรียนได้ปกติ เชื่อว่าคุณครูและนักเรียนต่างคิดถึงห้องเรียนกันแน่นอน และยังต้องปรับการเรียนรู้ให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน
 

รูปแบบการเรียนการสอนที่ผ่านมา
          ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผลกระทบใหญ่ที่ปะทะต่อ
การเรียนการสอน ทำให้โรงเรียนทั้งประเทศต้องหยุดชะงัก ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนในทุกระดับชั้น และที่ผ่านมามีการจัดการเรียนรู้ ทั้งหมด 5 รูปแบบ 1.On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการการป้องกันตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19  (ศบค.) ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการทดลองและปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับความพร้อมในแต่ละโรงเรียน 2.On-air การเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม 3.On-demand เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ 4.Online เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านทางระบบ Video Conference 5.On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัด ใบงาน ภายใต้ความช่วยเหลือของผู้ปกครอง 


          ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองร้อยละ 95 ส่วนใหญ่เสนอว่าการเรียนที่โรงเรียนเด็กจะได้รับความรู้ เข้าถึงบทเรียนได้ดีกว่า และการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีของครูและเด็ก ประกอบกับปัจจัยหลาย ๆ อย่างเมื่อเรียนที่บ้านของแต่ละครอบครัวที่ไม่เหมือนกัน ไม่ได้เอื้ออำนวยกับการเรียนรู้ได้ดีนัก อีกทั้งตัวผู้ปกครองเองเป็นได้เพียงผู้ช่วยในการสอนเท่านั้น อาจทำให้เด็กแต่ละคนได้รับการเรียนรู้ไม่เต็มที่และไม่เท่ากัน ส่งผลให้เด็ก ๆ หลายครอบครัวเกิดการเรียนรู้แบบถดถอย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กยากจนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียน อาจจะทำให้ความรู้ของเขาหายไปถึงครึ่งปีการศึกษา ซึ่งสภาวะการถดถอยของทุนมนุษย์ (human capital) อาจจะนำไปสู่การถดถอยของการ เติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ 

 

การเรียน

 

 

การกลับมาเรียนในครั้งนี้ต้องเตรียมตัวอย่างไร
          การเปิดเทอมในครั้งนี้ต้องรักษามาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 ควบคู่ไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรทางการศึกษาต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก เพื่อรับมือกันได้อย่างถูกต้อง และลดปัญหาการกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำแผนการเปิดเรียนของโรงเรียนให้อยู่ภายใต้ 7 มาตรการหลัก คือ
1.สถานศึกษาประเมินความพร้อมเปิดเรียนผ่าน Thai Stop Covid และรายงานการติดตามประเมินผล
2.การทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ Small Bubble (เน้นกลุ่มเล็ก)
3.การจัดระบบให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาล และหลักโภชนาการ
4.การจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้เกณฑ์มาตรฐาน
5.จัดให้มี School isolation แผนเผชิญเหตุ
6.ควบคุมดูแลการเดินทางไปกลับของนักเรียน เช่น รถรับส่ง รถส่วนบุคคล และพาหนะโดยสารสาธารณะ
7.จัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียนครู และบุคลากรในสถานศึกษา ข้อมูลผลการประเมินของครู และนักเรียนผลการตรวจ ATK ภายใน 7 วันพร้อมประวัติการรับวัคซีน
          ยกตัวอย่างการเตรียมความพร้อมการเปิดเทอมของโรงเรียนนานาชาติ สมาชิก ISAT โดยเข้าร่วมกับโครงการเปิดเรียนมั่นใจปลอดภัยไร้โควิด-19 หรือ Sandbox Safety Zone in School (SSS) ได้ทำงานร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนเร็ว ๆ นี้ ในเบื้องต้นทางโรงเรียนได้ทำการสำรวจข้อมูล ครู นักเรียน และบุคลากร กับการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงหรืออยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งในวันเปิดเทอมทุกคนจะต้องผ่านการตรวจ Antigen test kit (ATK) ก่อนเข้าโรงเรียน และปลูกฝังให้นักเรียนปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด ครู และบุคลากร ต้องได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่าร้อยละ 85 

 

ระบบการจัดการเรียนการสอน 
          แผนการจัดการเรียนการสอนก่อนเปิดเทอม กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ของสถานศึกษา ที่ใช้ในสถานการณ์โควิด–19 เพื่อเตรียมความพร้อมในช่วงเปิดภาคเรียน โดยให้มีการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน
On-site ผสมกับรูปแบบอื่น ๆ 
1.ในพื้นที่ที่ไม่มีความเสี่ยง ให้จัด
การเรียนการสอนได้แบบปกติ แต่มีการรักษาระยะห่าง และดำเนินการตามมาตรการป้องกันของสาธารณสุข 
2.สถานศึกษาขนาดใหญ่ ที่มีนักเรียนจำนวนมาก จัดทำการสลับวันเรียน หรือมาเรียนวันละระดับชั้น โดยกลุ่มนักเรียนที่ไม่ได้มาเรียน ใช้การจัดการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ หรือการจัดการเรียนรู้ผ่านโทรทัศน์ 
3.สถานศึกษาบางแห่งให้ใช้การลดจำนวนของนักเรียนในแต่ละห้อง สลับการใช้การจัดการเรียนรู้ผ่านโทรทัศน์ และการจัดการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ เพื่อลดปริมาณและรักษาระยะห่าง
4.สถานศึกษาจัดเตรียมอาคารสถานที่ เช็กจำนวนนักเรียน และจำนวนห้องเรียนที่สามารถจัดที่นั่งเว้นระยะห่างตามความเหมาะสม 
5.ประเมินและจัดเตรียมอุปกรณ์การเรียนรู้ต่าง ๆ สื่อเทคโนโลยีที่ใช้ เพื่อส่งเสริม
การเรียนการสอนระหว่างครูและนักเรียน เพื่อการเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพ ความเข้าใจ และการเข้าถึงสื่อเทคโนโลยีได้ถูกต้อง
6.ครูและบุคลากร ร่วมกันวางระบบแผนการเรียนการสอน ดำเนินการวิเคราะห์จัดทำหลักสูตรให้เหมาะสม ปรับแผนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเนื้อหา และเชื่อมโยงเนื้อหาการเรียนรู้ที่ผ่านมา 
7.การออกแบบกิจกรรมเน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการ การใช้ใบความรู้ ใบงานประกอบการเรียนรู้ และการวัดประเมินผลผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ สิ่งสำคัญในการจัดกิจกรรม ควรลดกิจกรรมที่สัมผัสทางร่างกาย 

 

การสอน

 

 

          กลับมาเปิดเทอมในครั้งนี้เรายังตอบไม่ได้ว่าจะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ดีมากขึ้นเท่าใด แต่การร่วมมือร่วมใจของทางภาครัฐ สถานศึกษา และครู อาจส่งผลให้นักเรียนกลับมามีกำลังใจในการเรียนอย่างแน่นอน ถึงเวลาแล้วที่เราควรจริงจังกับการจัดระบบการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น 
 

          เด็กในยุคนี้เจอผลกระทบที่รุนแรงต่อสภาวะจิตใจและการเรียนรู้ บทบาทของครูก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่นักเรียนยังต้องพึ่งพาเพื่อการประสบความสำเร็จในด้านการเรียนรู้ เมื่อการศึกษาต้องดำเนินการต่อไป ต่อให้จะเกิดผลกระทบอีกกี่ครั้ง ก็ต้องปรับเปลี่ยน และปรับรูปแบบไปตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เยาวชนในวันนี้คืออนาคตของชาติในวันหน้า ถ้าเรารีบเร่งการฟื้นฟูได้ไวมากเท่าไร ภาวะการถดถอยของผู้เรียนจะน้อยลง การพัฒนาของประเทศจะดียิ่งขึ้น

 

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท.  อื่นๆ ได้ที่     >>> คลิก <<<

 เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่นๆ ได้ที่    >>> คลิก <<<

 

แหล่งที่มาและการอ้างอิง
https://www.springnews.co.th/news/815726
https://www.thairath.co.th/news/local/2208881?utm_source=dable
http://backoffice.onec.go.th/uploads/Book/1834-file.pdf

 

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง