เปิดเทอมวันแรก โรงเรียนขอเปิดสอนแบบ On-Site ทะลุ 10,000 แห่ง

วันนี้! เปิดเทอมวันแรก

เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ศธ.-สธ.ร่วมแถลงข่าว พร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 มีโรงเรียนขอเปิดสอนแบบ On-Site ทะลุ 10,000 แห่ง

 
1 พ.ย.นี้ ศธ.พร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 มีโรงเรียนขอเปิดสอนแบบ On-Site ทะลุ 10,000 แห่ง “ตรีนุช”กำชับปฏิบัติตามเงื่อนไข-แนวปฏิบัติ-แผนเผชิญเหตุอย่างต่อเนื่อง เคร่งครัด ยึดความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสำคัญ

ดาวน์โหลด หลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา และเอกสารประกอบการแถลงข่าว ดาวน์โหลดเอกสาร

 
(28 ตุลาคม 2564) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศธ., นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน, และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รวมทั้ง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค, นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมแถลงข่าว “ความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษาสังกัด ศธ. ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564”
 
รมว.ศธ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการออกประกาศ ศธ. เรื่อง หลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 34) เพื่อกำกับดูแลและเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักเรียน ครู และประชาชนทั่วไป ว่าโรงเรียนและสถาบันการศึกษาสามารถดำเนินกิจกรรมได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ตามแนวการเปิดภาคเรียนที่ 2/2546 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด 19)
 
ประกาศ ศธ.ฉบับนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เงื่อนไขของมาตรการ แนวปฏิบัติ แผนเผชิญเหตุ และรายละเอียดต่าง ๆ ระบุไว้อย่างชัดเจน โดยมีสาระสำคัญ 5 ส่วน ดังนี้
  • ส่วนที่ 1 เงื่อนไขหลักของมาตรการ Sandbox Safety Zone in School รองรับการเปิดภาคการศึกษาที่ 2/2564 โดยจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาแบบ On-Site จำแนกตามเขตพื้นที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
  • ส่วนที่ 2 เงื่อนไขข้อกำหนด ของ 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา (ประเภทไป-กลับ)
  • ส่วนที่ 3 หลักเกณฑ์การพิจารณาสำหรับการใช้อาคารหรือสถานที่ เพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม)
  • ส่วนที่ 4 มาตรการตามแผนเผชิญเหตุ ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ของสถานศึกษา
  • ส่วนที่ 5 หลักเกณฑ์การพิจารณาสำหรับการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อการสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
 
ในการเปิดเรียนแบบ On-Site โรงเรียน สถานศึกษาต้องผ่านการประเมินความพร้อมผ่าน Thai Stop Covid Plus (TSC+) และรายงานการติดตามการประเมินผลผ่าน MOECOVID โดยถือปฏิบัติอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง, ครูและบุคลากรในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป สำหรับครูและบุคลากรในพื้นที่อื่น ๆ ต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป ส่วนนักเรียนไม่มีกำหนด แต่ ศธ.ได้รณรงค์ทำความเข้าใจให้นักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีนมากที่สุด เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและผู้ปกครองเอง
 
ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังสำรวจจำนวนโรงเรียนว่า ในภาคเรียนที่ 2/2564 นี้จะใช้รูปแบบใด โดยพบว่ามีทั้งขอเปิดแบบ On-Site 100% หรือ On-Site ส่วนใหญ่ รวมกว่า 10,000 โรงเรียน มีบางแห่งขอใช้รูปแบบผสมผสาน และมีบางพื้นที่ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยังไม่ให้เปิดแบบ On-Site ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ แต่ให้เลื่อนไปเปิดวันที่ 15 พ.ย. แทนอย่างไรก็ตามจะปิดเทอม 2/2564 พร้อมกันในวันที่ 1 เม.ย.2565
 
สำหรับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งสิ้น 869 แห่ง ตอบแบบสอบถามมา 832 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ 531 แห่ง ขอใช้รูปแบบผสมผสานคือมีทั้ง On-Site และ Online รองลงมา 192 แห่ง ขอใช้รูปแบบ Online 100% และจำนวน 109 แห่งขอใช้ On-Site 100%
 
 
รมว.ศธ. กล่าวด้วยว่า ระหว่างภาคการศึกษาโรงเรียนหรือสถานศึกษา สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั้งรูปแบบ On-Site หรือ Online หรือแบบผสมผสาน (Hybrid), นักเรียน ครู และบุคลากร ทุกคนต้องประเมิน Thai Save Thai (TST) ตามเกณฑ์จำแนกตามเขตพื้นที่การแพร่ระบาด, มีการสุ่มตรวจคัดกรองหาเชื้อ (ATK) ทั้งนักเรียน ครู และบุคลากร เพื่อเฝ้าระวัง, มีการปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น, ทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ Small Bubble หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมข้ามกลุ่มกัน และจัดนักเรียนในห้องเรียนขนาดปกติ ไม่เกิน 25 คน หรือจัดให้เว้นระยะห่างระหว่างนักเรียนในห้องเรียนไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร ตลอดจนมีสถานที่แยกกักตัวในโรงเรียน หรือพื้นที่แยกกักชั่วคราว รวมไปถึงแผนเผชิญเหตุสำหรับรองรับการดูแลรักษาเบื้องต้นกรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากรในสถานศึกษากรณีมีการติดเชื้อโควิด 19 หรือผลตรวจคัดกรองหาเชื้อเป็นบวก โดยมีการซักซ้อมอย่างเคร่งครัด และควบคุมดูแลการเดินทางกรณีมีการเข้าและออกจากสถานศึกษาอย่างเข้มข้น โดยหลีกเลี่ยงการเข้าไปสัมผัสในพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดเส้นทางการเดินทาง ทั้งนี้ มาตรการและแนวทางต่าง ๆ จะปรับตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ขึ้นกับคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด
 
อธิบดีกรมควบคุมโรค และรองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 12 -18 ปี ตอนนี้มีการแจ้งความประสงค์เข้ารับการฉีดวัคซีนจาก 3.8 ล้านคน เพิ่มอีก 5 แสนคน กระทรวงสาธารณสุขได้ทยอยจัดสรรวัคซีนลงไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มเติมแล้วกว่า 6 ล้านโดส ด้านผลข้างเคียงของวัคซีนไฟเซอร์ที่ผู้ปกครองเป็นกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้แต่น้อย สามารถรักษาหายได้ เพราะเมื่อเด็กติดเชื้อโควิด 19 ภายนอกอาจดูเหมือนไม่แสดงอาการ แต่อวัยวะภายในเกิดการอักเสบและส่งผลระยะยาว ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์จึงลงความเห็นว่าการฉีดวัคซีนโควิดมีประโยชน์ เด็กจึงสมควรอย่างยิ่งที่ต้องได้รับวัคซีน เพียงแต่ให้มีความระมัดระวัง หากฉีดครบ 2 เข็มแล้ว ควรพักร่างกาย งดออกกำลังกายประมาณ 7 วัน โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย
 
 
ทั้งนี้ ขอให้ผู้ปกครองมั่นใจและวางใจถึงผลข้างเคียงในวัคซีนที่มีการฉีดให้กับเด็ก และยังไม่อนุญาตให้ฉีดวัคซีนในเด็กเล็ก 3-11 ปี แต่ล่าสุดหลายประเทศ ได้มีการฉีดวัคซีนโควิดในเด็กประถมบ้างแล้ว อีกทั้งเบื้องต้นทั่วโลกตอนนี้หลายบริษัทกำลังผลิตวัคซีนที่ฉีดในเด็กมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เร่งให้บริษัทที่เกี่ยวข้องมาขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิดในเด็กเล็ก กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หากมีการอนุญาตก็จะมีการพิจารณาฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กมีต่อไป
 
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการจัดสรร-การรับวัคซีนของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า ภาพรวมจำนวนนักเรียนที่ฉีดวัคซีนรายภาค ข้อมูล ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2564 ช่วงอายุ 12 ปีขึ้นไป (ป.6/ม.1, นักศึกษา ปวช.1-3, ปวส.1-2) ประสงค์ฉีด 3,817,727 คน ฉีดไปแล้ว 2,544,267 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 66.64 ส่วนบุคลากรทางการศึกษา ข้อมูล ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2564 ฉีดวัคซีนเข็ม 1 ไปแล้ว 782,010 คน เข็ม2 522,133 คน ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน 112,377 คน
 
เลขาธิการ กพฐ.-กอศ.-กช.-กศน. กล่าวเพิ่มเติมถึงความพร้อมของสถานศึกษาในการดูแลนักเรียน นักศึกษาว่า กระทรวงศึกษาธิการ ยืนยันเปิดเรียนทั้งหมดพร้อมกันทั่วประเทศ 1 พ.ย. 2564 แต่จะเปิดเรียน On-Site ได้หรือไม่ โรงเรียนต้องผ่านการประเมินตนเอง 44 ข้อของ Thai stop Covid Plus และผ่านการประเมินคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด อาทิ โรงเรียนในจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา ได้ขอเวลาเตรียมความพร้อมและจะเปิดภาคเรียนในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งก็เป็นอำนาจของผู้บริหารสถานศึกษาในแต่ละพื้นที่ ส่วนการเดินทางของนักเรียน ได้ขอความร่วมกับกระทรวงคมนาคม ให้คุมเข้มมาตรการกับคนขับรถรับส่งนักเรียน โดยต้องได้รับวัคซีนครบ 3 โดส หรือ 2 โดส เป็นอย่างน้อย
 
 
สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนห้องละไม่เกิน 25 คน สามารถเปิดเรียนได้เต็มรูปแบบ แต่ถ้าโรงเรียนใดนักเรียนในห้องเกิน 25 คน อาจใช้วิธีบริหารจัดการ อาทิ ให้สลับวันเรียน สลับชั้นเรียน เป็นต้น ส่วนการทำกิจกรรมในโรงเรียนที่เป็นการรวมกลุ่ม ขอความร่วมมือให้งดหรือเลื่อนไปก่อน เพราะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในวงกว้าง
 
ทั้งนี้ โรงเรียนในสังกัด ศธ.ต้องการเปิดเรียน On-Site ให้ได้มากที่สุด ปรับโรงเรียนให้เป็นบ้านอย่างอบอุ่น ใช้โรงเรียนเป็นฐานในการประเมินสถานการณ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครองและมุ่งเน้นไปที่ การเตรียมความพร้อมของโรงเรียน นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมาตรการการเปิดเรียนจะต้องเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้
 

ดาวน์โหลด หลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา และเอกสารประกอบการแถลงข่าว ดาวน์โหลดเอกสาร

 
เนื้อหาข่าวและภาพประกอบจาก :
https://moe360.blog/2021/10/28/open-semester-1nov/
 
 
 
แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง