พ่อแม่ไทยจัดลำดับความสำคัญเรื่องการศึกษาไว้อันดับหลังๆ แล้วเด็กไทยเมื่อโตไปจะสู้เขาได้ไหม (ประเทศไทยจะสู้เขาได้ไหม?)

 

พ่อแม่ไทยจัดลำดับความสำคัญเรื่องการศึกษาไว้อันดับหลังๆ

แล้วเด็กไทยเมื่อโตไปจะสู้เขาได้ไหม (ประเทศไทยจะสู้เขาได้ไหม?)

 

 

ทุกภาคส่วนในสังคมไทยบอกตรงกันว่าเราต้องสร้างเด็กไทยให้แข็งแกร่งเพื่อสร้างประเทศไทยในอนาคตให้แข็งแกร่ง แต่ว่าสังคมไทยเราลงมือทำอย่างที่พูดหรือไม่

 

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม และวันที่ 28 สิงหาคม 2558 ผมได้เขียนไปแล้วว่างบประมาณรัฐของไทยที่ใส่ลงในด้านการศึกษานั้นน้อยนิด เมื่อเทียบกับนานาชาติ (งบฯของกระทรวงศึกษาธิการของไทยเรา คิดเป็น 3.8% ของ GDP ซึ่งน้อยกว่าทุกประเทศที่น่าชื่นชมลองย้อนอ่านดูได้ครับ)

 

วันนี้เรามาดูข้อมูลสถิติค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่น่าสนใจดูครับ จากผลการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2554 ทั่วราชอาณาจักรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าครัวเรือนไทยทั่วประเทศไทย มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 17,403 บาท โดยใช้จ่ายด้านการศึกษาเฉลี่ยเดือนละ 272 บาท คิดเป็น 1.6% ของค่าใช้จ่ายครัวเรือน

 

ครัวเรือนไทยเราให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการศึกษา (1.6%) เป็นอันดับหลังๆ น้อยกว่าค่าเสื้อผ้า (6.1%) ค่าโทรศัพท์ (3.1%) สันทนาการ (1.9%) เสียอีก

 

หากเราลองไปเทียบกับสิงคโปร์ประเทศเพื่อนบ้านเราที่มีการพัฒนาการน่าชื่นชมดู ครัวเรือนสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการลงทุนในด้านการศึกษาเป็นอันดับต้นๆ เป็นรองแค่จากค่าที่อยู่ อาหาร เดินทาง และสันทนาการ

 

ครัวเรือนสิงคโปร์ใช้จ่ายด้านการศึกษาคิดเป็น 5.4% ของค่าใช้จ่ายครัวเรือน มากกว่าค่าเสื้อผ้า (2.7%) ประมาณ 2 เท่า มากกว่าค่าโทรศัพท์ (3.8%) ประมาณ 1.4 เท่า

 

เด็กสิงคโปร์เก่งเป็นอันดับต้นๆของโลก (จากผลการสอบ PISA) เพราะทั้งภาครัฐ ทั้งภาคครัวเรือน เขาให้ความสำคัญสูงกับการพัฒนาคน โดยลงทุนอย่างเพียงพอในด้านการศึกษา

 

หันกลับมาดูประเทศไทย รัฐก็ลงทุนน้อย (เพราะไม่ค่อยมีเงิน???) ภาคครัวเรือนก็ให้ความสำคัญกับด้านการศึกษาต่ำสังคมไทยเราดีแต่พูดว่าต้องสร้างเด็กไทยให้แข็งแกร่ง แต่ดูเสมือนว่าสังคมไทยเรายังไม่ได้ลงมือทำอย่างที่พูดสักที

 

 

 

 

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

คุณคิดว่าจะสร้างให้ภาคครัวเรือนของไทยตระหนักและหันมาลงทุนเพื่อยกระดับการศึกษาของลูกหลานเรา

อย่างที่ปากพูดได้อย่างไร   ลองเขียนมาแลกเปลี่ยนความคิดกันครับ

 

 

 

 

หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลจาก
1. สำนักงานสถิติแห่งชาติ
สำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2554 ทั่วราชอาณาจักร
http://service.nso.go.th/…/…/themes/files/hhsocio_eco_wk.pdf
2. Department of Statistics Singapore
http://www.singstat.gov.sg/…/household_income_a…/hes1213.pdf
 
แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีบทความที่เกี่ยวข้อง