รัฐธรรมนูญใหม่ มาตรา 52 เรื่องการศึกษา จะพาประเทศไทยไปในทิศใดในระยะยาว

 

รัฐธรรมนูญใหม่ มาตรา 52 เรื่องการศึกษา จะพาประเทศไทยไปในทิศใดในระยะยาว

 

 

บันทึกจาก Eisenhower Fellowships #5

วันพุธที่ 6 พฤษภาคม 2558

เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโรลาโด สหรัฐอเมริกา

 

 

หนึ่งเดือนที่ผ่านมานี้ ผมได้เดินทางพบปะพูดคุยกับผู้คนหลากหลายที่ทำงานวิจัย เกี่ยวกับนโยบายการศึกษาในระดับนานาชาติ และในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของไทย ผมเห็นว่ามีประเด็นในด้านการศึกษาที่อยากชวนคุย ให้เห็นว่าคุณภาพของคนไทยรุ่นใหม่ และ ของประเทศไทยในระยะยาวจะพัฒนาไปได้ไหมขึ้นอยู่กับข้อความในเขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญใหม่ มาตรา 52 เรื่องการศึกษา

 

 

มาตรา 52 ระบุว่า 
พลเมืองย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการรับการศึกษาที่ “มีคุณภาพ” และหลากหลายอย่างทั่วถึงตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาสายสามัญและอาชีพโดย “ไม่เสียค่าใช้จ่าย”

 

 

ผมเน้นคำว่า “มีคุณภาพ” และ “ไม่เสียค่าใช้จ่าย” เพราะว่าสองคำนี้มักจะไปด้วยกันไม่ค่อยได้ วันนี้ประเทศไทยมีทางเลือก 3 ทาง ดังนี้

 

 

ทางเลือกที่ 1 การศึกษาแบบมีคุณภาพ โดยมีรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ

หากจะให้สองคำนี้ไปด้วยกันได้จริง ภาครัฐของไทยจะต้องเตรียมพร้อมที่จะลงทุนในด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นมากกว่านี้อีกอย่างน้อย 100,000 ล้านบาทต่อปี (เทียบกับงบฯบัจจุบันของกระทรวงศึกษาฯ 480,000 ล้านบาทต่อปี) เพื่อให้ระดับการลงทุนด้านการศึกษาของไทยอยู่ในระดับ 4.5% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับการลงทุนที่เพียงพอขั้นต้นสำหรับการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ

 

ตัวอย่างของการเดินแนวนี้มีให้เห็นในประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียที่จัดให้มีรัฐสวัสดิการอย่างเต็มที่ในด้านการศึกษาประเทศฟินแลนด์ รัฐลงทุนด้านการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา (Pre-primary, Primary, secondary and post-secondary non-tertiary education) รวมเป็น 4.5% ของ GDP. สวีเดนรัฐลงทุน 4.7% ของ GDP. (แต่อย่าลืมว่า GDP ต่อหัวของเขาสูงกว่าเรามากมาย ดังนั้น 4.x% ของเขา คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนสูงกว่าเรามากมาย)

 

 

ทางเลือกที่ 2 การศึกษาแบบมีคุณภาพ โดยมีรัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่าย “ขั้นพื้นฐาน” และทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมลงทุนในด้านการศึกษาให้มีคุณภาพ

หากว่าภาครัฐของไทยยังไม่มีงบประมาณพอที่จะทุ่มให้กับการศึกษามากขึ้นอีกอย่างน้อย 100,000 ล้านบาทต่อปีรัฐควรทำให้สังคมเข้าใจอย่างชัดเจนว่าภาคเอกชน พ่อแม่ผู้ปกครอง สังคมทุกภาคส่วนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนเพื่อสร้างคนไทยรุ่นใหม่ รัฐธรรมนูญควรเขียนให้ชัดว่ารัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่พอเพียง

 

ตัวอย่างประเทศที่เดินนโยบายการศึกษาในแบบนี้มีมากมายหลายประเทศทั่วโลก เช่น
ออสเตรเลีย รัฐลงทุน 3.8% + เอกชน 0.6% = ลงทุน 4.5% ของ GDP
นิวซีแลนด์ รัฐลงทุน 5.0% + เอกชน 0.7% = ลงทุน 5.7% ของ GDP
เนเธอร์แลนด์ รัฐลงทุน 4.1% + เอกชน 0.4% = ลงทุน 4.5% ของ GDP
เดนมาร์ก รัฐลงทุน 5.6% + เอกชน 0.3% = ลงทุน 5.9% ของ GDP
เกาหลีใต้ รัฐลงทุน 3.5% + เอกชน 1.0% = ลงทุน 4.5% ของ GDP
สหรัฐอเมริกา รัฐลงทุน 4.1% + เอกชน 0.5% = ลงทุน 4.6% ของ GDP

 

วันนี้งบฯของกระทรวงศึกษาธิการของไทยเรา 480,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.8% ของ GDP ซึ่งน้อยกว่าทุกประเทศที่กล่าวมาข้างต้น หากเราอยากได้ทุกภาคส่วนในสังคมหันมาร่วมลงทุนในด้านการศึกษา รัฐธรรมนูญ มาตรา 52 ควรจะเขียนดังนี้ครับ

 

“พลเมืองย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการรับการศึกษาที่มีคุณภาพและหลากหลายอย่างทั่วถึงตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาสายสามัญและอาชีพโดยมี ***รัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เพียงพอและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ***”

 

 

ทางเลือกที่ 3 การศึกษาแบบคุณภาพตามมีตามเกิด โดยมีรัฐบอกว่าเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่าย “ทั้งหมด” แต่จริงๆ แล้วรัฐไม่ค่อยมีงบฯ (อย่างเดียวกันกับที่เป็นมาหลายปี)

หากรัฐธรรมนูญมาตรา 52 ออกมาอย่างที่เขียนอยู่ในฉบับร่าง และ รัฐสื่อสารให้สังคมเข้าใจผิดพลาดว่ารัฐสามารถให้การศึกษาที่ดีได้ด้วยงบประมาณรัฐเพียงอย่างเดียว (ทั้งที่จริงๆแล้วรัฐไม่มีงบฯเพียงพอ) ประเทศไทยเราคงต้องไม่ต้องหวังว่าจะยกระดับการศึกษาของคนไทยรุ่นใหม่ คุณภาพการศึกษาบ้านเราก็คงเป็นไปตามมีตามเกิดอย่างที่แล้วๆมา

 

 

 

 

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

คุณคิดว่าทางเลือกใดดีที่สุดสำหรับประเทศไทย
เราจะทำให้ประเด็นนี้เข้าไปอยู่ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญได้ทันท่วงทีอย่างไร
ลองเขียนมาแลกเปลี่ยนกันดูครับ

 

 

 

หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลจาก
รายงาน OECD Education at a Glance 2013
Table B2.3. Expenditure on educational institutions as a percentage of GDP, by source of fund and level of education (2010)

 
แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีบทความที่เกี่ยวข้อง